xs
xsm
sm
md
lg

“Sex Workers” ขายเซ็กซ์แลกเงิน ผู้ให้สุข (ทางเพศ) แต่ไร้สิทธิ์ (ทางกฎหมาย)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากพูดถึงประเด็นเรื่อง “Sex Workers” หรือ กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกละเลยมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องสิทธิทางกฎหมายที่ยังได้รับความคุ้มจากภาครัฐน้อยมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ

จากปัญหาดังกล่าว “พองาม เหลี่ยมศิริวัฒนา” อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จึงได้ศึกษาเรื่องเพศสภาวะ (Gender) กับอำนาจอธิปไตย และสะท้อนมุมมองเรื่อง “Sex Workers” ผ่านงานวิจัย “Sex Workers and Excuded Exclusion” เพื่อวิเคราะห์การถูกกีดกันออกจากเขตแดนความเป็นพลเมืองของผู้ขายบริการทางเพศ

อ.พองาม อธิบายว่า ถ้าจะหาทางออกของเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจจากความจริง โดยศึกษาอย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้าจะให้ถูกกฎหมาย จะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ส่วนตัวไม่ชอบคำตอบในลักษณะที่ว่า เป็นสังคมเมืองพุทธ แล้วจะยึดทุกอย่างไว้แค่นั้นเพราะไม่ใช่คำอธิบายที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นเรื่องที่ทำแล้วต่อยอดไปได้ ซึ่งสุดท้ายคิดว่า แนวโน้มจะคล้ายกับต่างประเทศที่ผู้ค้าบริการทางเพศได้รับการยอมรับ และคุ้มครองมากขึ้น

อย่างตัวอย่าง เช่น ในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายเขตปลอดโสเภณี โดยถูกกำหนดขึ้นในรัฐคอร์ดแมน และจะมีอยู่ 5 โซนที่ห้ามเข้าไปค้าประเวณี เช่น แถบสังคมเมือง บ้านคนมีฐานะ ถ้าหากเจอครั้งแรกต้องออกจากพื้นที่นั้นทันที และห้ามเข้ามาจนครบ 90 วัน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ปรากฏว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปขายบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวแล้วโดนจับ ทว่า ด้วยความจำเป็นที่เธอต้องเข้าไปรับลูกสาวซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณแถบนั้น พอตำรวจเห็น เธอก็ถูกจับอีกครั้ง ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากเธอไม่ได้เข้าไปขายบริการทางเพศ
อ.พองาม เหลี่ยมศิริวัฒนา
ส่วนอีกกรณีหนึ่งมีผู้หญิงไปขายบริการทางเพศนอกเขต ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่โดนข่มขืน และถูกทิ้งไว้ในสภาพเปลือยเปล่า จากนั้นผู้กระทำผิดก็ขับรถเข้าไปบริเวณเขตปลอดโสเภณี ซึ่งเท่ากับว่า ผู้หญิงที่โดนข่มขืน ไม่สามารถตามไปได้เลย เพราะถ้าเข้าไปจะถูกตำรวจจับฐานผิดกฎ สิ่งเหล่านี้เหมือนถูกกีดกัน และไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายในฐานะพลเมืองของประเทศ

สำหรับประเทศไทย อ.พองาม บอกว่า มีสัดส่วนของผู้ขายบริการทางเพศในไทย ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก แต่ตัวเลขที่ภาครัฐรายงานออกมากลับต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ

นอกจากนี้ กฎกติกาที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมล้วนกำหนดกันเองภายในสถานบันเทิง ซึ่งรัฐไม่ได้เข้าไปยุ่ง แต่สิ่งที่รัฐโผล่เข้าไป เพียงเพื่อหวังอะไรบางอย่าง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงอยู่ อำนาจรัฐมองผู้หญิงเหล่านี้เป็นคนนอก พวกเธอเลยไม่ได้รับการปกป้อง ต่อให้ในอนาคตในอีกยาวไกล ยังไม่แน่ใจว่า จะยังเป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่ รวมทั้งการประกันสังคมของรัฐครอบคลุมประกันสุขภาพสำหรับผู้อพยพย้ายแรงงานภายในประเทศได้ แต่ไม่สามารถขยายให้ครอบคลุมผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิงหรือสถานบริการได้เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง

“คำว่า ถูกกีดกันจากความเป็นพลเมือง มันอาจจะดูเข้มข้น และรุนแรงเกินไป แต่สิ่งที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่า สถานะของผู้ขายบริการทางเพศในไทย หรือแม้แต่ในที่อื่นก็ตาม สุดท้ายแล้ว มีแนวโน้มที่จะได้รับการปกป้องจากรัฐน้อยมาก มากกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ค่านิยมทางสังคม ที่ไม่ยอมรับการขายบริการทางเพศ หรือการเรียนเรื่องเพศในสถานศึกษา หรือโรงเรียน ก็มีการใส่ค่านิยมบางอย่างลงไป เช่น บทที่ว่าเรื่องสุขอนามัยทางเพศ มันจะมีการพูดถึงเรื่องเอดส์ แล้วหนึ่งในนั้นจะมีการระบุว่า โสเภณีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค”

“ปัจจุบันการเปิดรับเรื่อง Sex Worker ในไทย มีการขยับมากขึ้น แต่จะมีมากพอ หรือดีพอแค่ไหน เป็นเรื่องที่ตอบลำบาก เพระบางสังคมมีลักษณะ หรือความเข้าใจที่แตกต่างกัน เช่น การแต่งงานกับเพศเดียวกันในบางประเทศ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในไทยยังไม่ถึงจุดนั้น ไม่สามารถเอาเป็นตัวยึด หรือเป็นต้นแบบได้ทั้งหมด การจะหาคำตอบ ทุกคนต้องเข้าใจความจริง และยอมรับความจริง ปัญหาทุกอย่างย่อมได้รับการแก้ไขแน่นอน” อ.พองาม เสนอทางออก

อย่างไรก็ตาม อ.พองาม เล่าถึงแผนงานที่จะทำต่อในอนาคต ว่า จะศึกษาประเด็นเรื่องเพศสภาวะเพิ่มเติม โดยจะเล่นประเด็นกับการให้รางวัล เช่น นักเรียนดีเด่นในโรงเรียนมักถูกจำกัดอยู่แค่ 2 เพศ จึงตั้งคำถามกับตัวเอง และสังคมว่า แล้วถ้าเป็นเพศที่ 3 เขาไม่สามารถเป็นนักเรียนดีเด่นได้เลยหรือ หรือแม่กระทั่งรางวัลวันแม่แห่งชาติ เราเคยเห็นแม่ที่เป็น Single Mom หรือ แม่เลี้ยงลูกคนเดียวหรือไม่ หรือผ่านการแต่งงานมาหลายครั้ง แต่อาจจะเป็นคุณแม่ที่มีความสุข เลี้ยงลูกได้ดีก็ได้
การทำความเข้าใจกับกฎหมายปรามการค้าประเวณีในไทย ต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทั้งการตีความกฎหมาย การบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ และผลที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ประเด็นที่โฟกัสวันนี้ คือ การตีความของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กฎหมายมีถ้อยคำแบบนี้ และสิทธิสตตรีมองแบบนี้ แต่ตำรวจมีการตีความที่ต่างกัน เป็นต้น เช่น ตามกฎหมายมีการกำหนดเพดานอายุ คนที่ต่ำกว่า 18 ปี ถือว่าผิด แต่ทุกวันนี้เวลาที่ตำรวจจับ จะจับข้อหาเตร็ดเตร่มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น