พอเปิดโทรทัศน์ดูละครหลังข่าวทีไร ก็ไม่พ้นเรื่องน้ำเน่า พล็อตเรื่องก็เดิมๆ พ่อเมาเหล้า แม่เล่นการพนัน แล้วก็มาทะเลาะตบตีกัน ลูกก็ใจแตกมีสามีทัน (มัน) ใช้ มีลูกก็ต้องใช้มันอีก และแล้วก็ไม่พ้นเป็นปัญหาของสังคมตามมา
ทว่า ใช่ว่าจะไม่มีความหวังเอาเสียเลย เมื่อมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนรักละครสร้างเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า DDD (DON’ N DRINK DRAMA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้การแสดงละครและดนตรีมาใช้เป็นสื่อในการรณรงค์ปัญหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ว่ามีผลอย่างไรกับตัวเองและคนรอบข้างที่คุณรักและรักคุณ
สมศักดิ์ ศิริพันธุ์ หรือ พี่ต่าย ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรรณรงค์งดเหล้า เล่าว่า เครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า DDD เป็นรวมกลุ่มกันของแต่คนที่เคยทำงานทางด้านนี้มาแล้ว อย่างกลุ่มไม้ขีดไฟ กลุ่มถักทอฝัน กลุ่มสายเสมา และกลุ่มกิ่งก้านใบ โดยเหตุผลที่ใช้ละครเป็นสื่อกลางในการรณรงค์ก็เพราะเป็นการเสดงที่คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจง่าย
“เหล้าเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับคนที่ดื่มเพียงคนเดียวแต่คนรอบข้างก็พลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบไปด้วย”
แรกเริ่มก่อนจะมาเป็นเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า DDD พี่ต่ายบอกว่าได้มีการเข้าร่วมปรึกษาหารือกันระหว่างเครือข่ายกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขอจัดตั้งเครือข่ายนี้ขึ้นมากระตุ้นให้สังคมเกิดการรับรู้ถึงปัญหาที่เกี่ยวกับ แอลกอฮอล์ ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรณรงค์ เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง เป็นต้น
“สสส.จะเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าสื่อการสอน ฯลฯ ส่วนทางชุมชนที่เราได้ไปให้ความรู้บางที่ก็จะสนับสนุนด้านพื้นที่การทำกิจกรรม อาหารกลางวัน เพราะพวกเขาถือว่าทางเรามาให้ความรู้โดยไม่มีผลตอบแทน ก็จะให้สิ่งเหล่านี้เป็นสินน้ำใจให้เรา”
พี่ต่าย เล่าด้วยว่า การจัดตั้งเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้าทำให้หลายฝ่ายได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ ข่มขืน ฯลฯ ทำให้เครือข่ายและกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยื่นเสนอ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชน
“เราใช้สื่อทางละครไปรณรงค์ให้เกิดกระแสการรับรู้ เป็นเหมือนกระจกช่วยสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมว่า จริงๆแล้วเหล้านั่นแหละเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาทุกอย่าง ซึ่งทางชุมชนที่ไปให้ความรู้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ก็อยากฝากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดื่มเหล้าว่ามันเป็นปัญหาของทุกคนอย่ามองว่ามันเป็นปัญหาของคนที่ดื่มเพียงคนเดียว” พี่ต่ายฝากแง่คิด
ด้านอีกหนึ่งสมาชิกของเครือข่าย “ชลธิชา ไทยเพ็ง” หรือพี่อ้อย ผู้ประสานงานเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า DDD อธิบายถึงเหตุผลที่เข้ามาร่วมงานกับเครือข่ายว่าเคยทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนมาก่อน จึงทำให้สนใจอยากจะเข้ามาร่วมรณรงค์ไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเพิ่มมากขึ้น
“การทำงานด้านนี้ต้องมีใจรัก เสียสละเวลาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งการมีส่วนร่วมในเครือข่ายก็ให้ข้อคิดกับตัวเองหลายอย่าง เช่น เหล้ามันเป็นตัวเร่ง และดึงสันดานดิบของผู้ดื่มออกมาหรือที่เขาเรียกกันว่า น้ำเปลี่ยนนิสัย อันนี้ถือว่าจริง พอไปดูสถิติก็พบว่า ผู้ชายดื่มเหล้าใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เกิดการฆ่า ปล้น ข่มขืน อีกอย่างคืออุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นทุกวันก็มีผลมาจากการ เมาแล้วขับ อยากให้ทุกคนมองปัญหานี้ว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบกับทุกคนอย่ามองเพียงว่า เป็นปัญหาเฉพาะผู้ที่ดื่มเหล้าเท่านั้น ซึ่งการไปรณรงค์แต่ละครั้งในสถานที่ต่างๆ ก็จะเน้นให้ชุมชนเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดื่มเหล้า การแสดงละครเป็นเพียงสื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมาเท่านั้น แต่หากจะให้ปัญหาจากการดื่มเหล้าลดลงไปได้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน” พี่อ้อยให้ภาพ
เช่นเดียวกับ “บัณฑิตา สมจรรยา” หรือ พี่ทราย ที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้มาร่วมเครือข่ายนี้ว่า ตอนแรกทำงานชมรมการพูดโต้วาทีของม.รามคำแหง แล้วมีรุ่นพี่มาชักชวนให้มาเล่นละครเกี่ยวกับการรณรงค์การงดเหล้าให้กับเครือข่ายฯ จึงได้ร่วมงานกับเครือข่ายเป็นต้นมา
“การที่ได้มาแสดงละครกับเครือข่ายก็ได้ให้ข้อคิดกับตัวเองหลายอย่าง เริ่มจากตัวเองเลยเคยอยากลองดื่มเหล้า แต่พอมาเห็นมาสัมผัสถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามก็เลยอยากบอกต่อคนอื่นว่าเหล้ามันเป็นสิ่งไม่ดีนะ อยากให้ผู้ที่ดื่มได้รับรู้ว่าเหล้ามันเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นหันมาดื่มเหล้ากันมากขึ้นเป็นเพราะร้านค้าที่เปิดให้บริการนอกเหนือเวลาขายที่กำหนดไว้ และบริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็มีกลยุทธ์มากขึ้น อย่างการลด แลก แจก แถม ซึ่งแต่ละบริษัทต่างแข่งขันกันเพื่อให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด”
“ตอนนี้เด็กวัยรุ่นสามารถซื้อเหล้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เพราะร้านค้าที่มีอยู่มากมายเปิดขายให้เยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี ขนาดว่า มี พ.ร.บ.มาควบคุมแล้วก็ยังเกิดปัญหาตรงนี้อยู่ อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยดูแลบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะทางเครือข่ายก็อยากให้ผู้ที่ดื่มเหล้าอยู่ ลด ละ เลิก และ รณรงค์ให้นักดื่มหน้าใหม่ที่อยากลองเห็นถึงปัญหาและไม่ทดลองที่จะดื่ม” พี่ทรายให้ข้อมูลทิ้งท้าย