xs
xsm
sm
md
lg

สร้างผนังผิวโมเสกด้วย “กะลามะพร้าว” ผลงานสร้างสรรค์จาก “วิทยาลัยตราด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงานชนะเลิศของ 3 หนุ่มจากวิทยาลัยตราด
“ทำไมเวลาคนพูดถึงเด็กอาชีวะจะพูดถึงแต่ในแง่ลบ ทำไมไม่มองว่าเด็กอาชีวะอย่างเราก็สามารถทำดีได้ไม่แพ้ใครเลย”

นั่นคือ เสียงสะท้อนของ “ต้อ ภักดี” หนึ่งในสมาชิกทีมจากวิทยาลัยตราด ที่ชนะเลิศการแข่งขันการประกวดโครงการ CEMENT AND CONTRETE INNOVATION ครั้งที่ 3 จัดโดยบริษัท SCG CEMENT เครือซีเมนต์ไทย ร่วมกับเพื่อนๆ คือ “สทาวีร์ มุ่งกรองกลาง” หรือ เน และ “ชัชชัย ไม่แก้ว” หรือ ชัช นักศึกษา ปวส.ชั้นปีที่ 1 สาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยตราด

ด้วยแนวคิดดังกล่าว พวกเขาจึงตัดสินใจนำเอาความรู้ความสามารถมาใช้ในทางที่ถูกที่ควร ด้วยการเข้าร่วมประกวด และในที่สุด พวกเขาก็ได้รังสรรค์ผลงานให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สมใจ

“แรงบันดาลใจของพวกผมก็มาจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติที่ชาวบ้านไม่ใช้แล้ว อย่างกะลามะพร้าว เพราะถ้าหากชาวบ้านไม่ใช้แล้วนำไปเผาทิ้งก็จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ข้อนี้จึงทำให้ผมเกิดความคิดว่ามันน่าจะทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านี้ จากกะลามะพร้าวที่ไม่มีใครต้องการ กลายมาเป็นผนังผิวโมเสกกะลามะพร้าวกับคอนกรีตได้ด้วยความตั้งใจจริงของพวกเรา” ต้อ บอกถึงที่มาที่ไปของผลงานชิ้นนี้

สำหรับกะลาที่นำมาใช้นั้นก็จะดูที่อายุของกะลา โดยสังเกตจากสีที่เข้มและเนื้อที่หนา จากนั้นก็จะนำมาตัดแล้วทุบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ เมื่อตัดนั้นกะลาก็กระจัดกระจายไปคนละที่ ทำให้ทั้ง 3 คนกลับมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้กะลาตัดออกมาแล้วเป็นชิ้นเป็นอัน

“ความยากอยู่ที่ความคิด เพราะความคิดที่จะทำผนังแบบนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อน จะหาข้อมูลจากที่ไหนก็ไม่ได้ต้องใช้ความรู้ที่เรียนมาล้วนๆ อีกเรื่อง คือ วัตถุดิบกะลามันแห้ง เวลาตัดแล้วมันกระเด็นต้องตามไปเก็บ พวกเราก็เลยลองเอาน้ำมาราดแล้วตัด ซึ่งก็ตัดได้ง่ายขึ้น ไม่กระเด็น จากนั้นสรุปร่วมกันว่าจะนำเครื่องตัดพลอยที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใหม่โดยมีเครื่องหล่อน้ำในตัว เวลาตัดจะได้ไม่ต้องคอยราดน้ำ” เน กล่าว

พอเสร็จขั้นตอนตัดกะลาแล้วก็จะนำกาวพาโต้ คือ กาวต่อเรือที่มีคุณสมบัติติดทนนานมาทาบนคอนกรีตที่มิกซ์ดีไซน์แล้ว โดยมีแนวคิดมาจากหินแกรนิตที่บางและรับน้ำหนักได้ดี ซึ่งงานที่ออกมาจะมีขนาด 90x1.50 ซม.บาง 3 ซม.และรับแรงอัดได้สูงถึง 500 กก./ตร.ซม.สามารถกันเสียง กันความร้อน และกันกระแทกได้ดี ที่สำคัญกว่านั้น คือ สามารถช่วยกันกระสุนได้อีกด้วย

“ส่วนของกะลานั้น ต้อ บอกว่า เป็นการเพิ่มคุณค่าให้คอนกรีต คือ มันจะช่วยยึดไม่ให้หัก เหมือนกับเสริมเหล็กเข้าไปอีกชั้น การตัดกะลาบางทีเราตัดเสร็จต้องมานั่งเรียงบนคอนกรีต เราเลยคิดว่าเอากาวมาทารอบนคอนกรีตไว้เลย ตัดเสร็จกะลาจะลงมาบน คอนกรีตแล้วมันก็จะติดกาวเอง โดยจะเอาฝุ่นของกะลามาเป็นส่วนผสมด้วยเพื่อให้สีออกมาใกล้เคียงกัน เสร็จแล้วก็จะขัดอีก 2-3 รอบ แล้วค่อยทาเคลือบความเงาด้วย ยูริเทน เป็นอันเสร็จขั้นตอน ซึ่งชิ้นหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน” ต้อ กล่าว

เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่พวกเขาร่วมแรงร่วมใจผนึกกำลังกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมาโดยมี “อ.ชนิต อาภรณ์รัตน์” เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามาตลอด

“อาจารย์ช่วยให้คำปรึกษาในเรื่องที่เราไม่รู้ ในช่วงเวลา 3 เดือน พวกเราช่วยกันคิด ช่วยกันวิจัยว่าทำอย่างไรที่ความคิดของเราจะสามารถนำมาทำให้ใช้งานได้จริง และเมื่อประสบผลสำเร็จ ก็กลายเป็นงานที่ชาวต่างชาติสนใจที่จะนำไปต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมผลิตผนังตัวนี้ขึ้นมา ถึงขนาดจะตั้งบริษัทให้พวกเราด้วย ในอนาคตข้างหน้าก็ต้องการจดลิขสิทธิ์แต่ก็ต้องรอให้ผลงานสมบูรณ์แบบเสียก่อนก็จะจัดอบรมให้ชาวบ้านมีความรู้ และสามารถที่จะผลิตสินค้าตัวนี้ขึ้นมาได้ และอยากให้ให้เป็นสินค้าโอทอป เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน” ทั้ง 3 คน กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 คนยังฝากแง่คิดทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า

“คนชอบมองเด็กอาชีวะไม่ดี ชอบยกพวกตีกัน ทะเลาะกัน แล้วสื่อก็จะประโคมข่าวกันยกใหญ่ลงหน้าหนึ่งเลย แต่พอเวลามีข่าวในด้านดีอย่างเช่นพวกผมก็ไม่ค่อยอยากจะโปรโมตเพราะมันไม่เป็นที่สนใจ ก็เลยอยากจะฝากพี่นักข่าวและทุกคนในสังคมว่า เด็กอาชีวะมีดี มีความรู้ และความสามารถมากกว่าที่พวกเขาคิด อย่ามองพวกเราแต่เพียงด้านเดียว อยากให้มองอย่างเป็นกลาง และไม่มีอคติกับเด็กช่างอย่างพวกเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น