xs
xsm
sm
md
lg

Me&Mobile :ความสัมพันธ์ “ฉันและเธอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งโครงข่ายไร้สายอันล้ำยุคเช่นนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าตนเองไม่มีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลทั้งโลกเอาไว้ในมือ และสั่งการเพียงแค่ปลายนิ้วกดอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่ถูกเรียกติดปากว่า “มือถือ” วินาทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ล้วนแล้วแต่ต้องการเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ไว้ในครอบครอง มือถือจึงกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ไปโดยปริยาย

ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงแต่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่ก้าวทันเทคโนโลยีของเจ้าเครื่องมือถือจิ๋วเครื่องนี้ แต่กลุ่มคนวัยทำงานก็ต้องพึ่งพาโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำทุกวัน เสมือนกับเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายเพื่อทำภารกิจส่วนตัว เช่น ส่งอีเมล ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของตนเองผ่านบริการของ อี-แบงกิ้ง อ่านข้อมูลผ่านโฆษณาผ่าน SMS ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้เพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมโดยไม่ต้องถูกจำกัดในเรื่องสถานที่และเวลา

-1-
ผศ.วงศ์หทัย ตันชีวะวงศ์ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลการวิจัยเรื่อง “การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านสื่อดิจิตอลของคนวัยทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร ศึกษาเฉพาะอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่” โดยสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนวัยทำงานในเขตกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันคนวัยทำงานในเขตกทม.ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มาแล้วเฉลี่ย 8.38 ปี ใช้มาสั้นที่สุด 1 ปี และใช้มานานสุด 27 ปี

“คนที่ใช้มือถือส่วนใหญ่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง แล้วในแต่ละวันก็จะใช้ประมาณเกือบ 9 ครั้งต่อวัน น้อยสุด 1 ครั้ง และใช้มากสุดถึง 50 ครั้งต่อวัน ซึ่งผลการสำรวจตรงนี้จะทำให้เห็นว่าคนวัยทำงานใช้มือถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำทุกวันขาดไม่ได้”

จากการสำรวจยังพบอีกว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในแต่ละครั้งเฉลี่ยใช้นาน 9.11 นาที ใช้น้อยสุด 1 นาที และใช้นานสุดถึง 4 ชั่วโมง 10 นาที มีค่าใช้จ่ายประมาณ 734.46 บาทต่อเดือนและค่าใช้จ่ายน้อยสุด 50 บาทต่อเดือน และมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน

น.ส.ศิริพร เทพประภากรณ์ หรือ “ตุ๊ก” นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าว่า โทรศัพท์ที่ใช้ปัจจุบัน มี 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งจ่ายเป็นรายเดือนและมีโปรโมชันพิเศษ คือ จ่ายวันละ 8 บาท โทร.ได้ไม่อั้นตั้งแต่ 10.00-16.00 น.นอกจากเวลานี้ จะเสียค่าโทร.นาทีแรก 3 บาท และนาทีต่อไป 50 สตางค์ ส่วนอีกเครื่องก็ใช้เป็นรายเดือน แต่เลือกข่ายที่ให้บริการโปรโมชันโทรฟรี 1 เบอร์

“ก็ถือว่าคุ้มนะเพราะใช้โทร.หาแฟนก็ถูก โทร.หาคนอื่นก็คุ้ม” ตุ๊กกล่าว

ด้าน น.ส.เทพยุดา วงศ์วิรัติ หรือ “ฟ้า” นักศึกษาปี 4 คณะวิทยาการจัดการ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) บอกว่า ส่วนมากจะใช้โทรศัพท์พีซีทีคุยงานกับเพื่อนมากกว่ามือถือ เฉลี่ยวันละ 10-15 นาที ถ้ากับแฟนจะคุยมากหน่อยเพราะต้องโทร.หากันทุกวัน ตกวันละประมาณ 3-4 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 20-30 นาที โดย 3 ครั้งแรกจะไม่ค่อยนาน ส่วนครั้งหลังจะนานหน่อย เพราะโทร.ตอนกลางคืน จะไม่เสียค่าโทร.เนื่องจากอยู่ในช่วงของโปรโมชันโทร.ฟรี

-2-
ผศ.วงศ์หทัย กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลจากการวิจัยข้างต้น ยังพบด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนวัยทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร ยังสามารถจำแนกด้วยสถิติวิเคราะห์ปัจจัยได้ ดังนี้

กลุ่มแรกจะใช้สื่อมัลติมีเดียที่เสริมตามความสามารถของเครื่อง ประกอบด้วย ดาวน์โหลดบริการเสริมต่างๆ ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เล่นเกมที่อยู่ในโทรศัพท์ และรับส่งข้อมูลด้วย SMS MMS Video นอกเหนือกว่านั้นก็จะเป็นการถ่ายบันทึกวิดีโอและฟังวิทยุ

อรรถพล อาภรณ์ พนักงานบริษัทเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบดาวน์โหลดเกม และเพลงลงมือถือ โดยให้เหตุผลว่าเวลาว่างก็มักจะเล่นเกมผ่านมือถือ มากกว่าการคุยโทรศัพท์กับเพื่อนหรือคนรู้ใจ

“ตั้งแต่ซื้อมือถือมาก็เล่นเกมซะส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้โทร.หาใครเพราะแฟนก็อยู่บ้านเดียวกัน เพื่อนก็บ้านใกล้กัน เลยไม่ค่อยใช้โทร.หาใคร เวลาเล่นเกมก็จะโหลดตามเว็บหรือไม่ก็ไปลงที่ร้านมือถือ ค่าใช้จ่ายตกประมาณ 50-150 บาท ต่อ 1 ครั้ง” อรรถพล กล่าว

ส่วนกลุ่มที่สองจะใช้ในการคำนวณ/บันทึก/จัดเก็บข้อมูลไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ใช้เพื่อส่งสารไปถึงผู้อื่น สืบค้นข้อมูล ติดต่อส่งข่าวสารกับผู้อื่น ซื้อสินค้า บริการ ติดตามข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์และเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

“ปกติจะค่อนข้างละเอียด คือ เวลาจะซื้อของจะหยิบมือถือกดเป็นเครื่องคิดเลข คำนวณราคา หรือบางทีถ้ามีนัดสำคัญกลัวลืมก็จะบันทึกเตือนความจำไว้ในโทรศัพท์ พวกวันเกิด วันที่สำคัญๆ ก็จะบันทึกไว้ในปฏิทินมือถือ สะดวกดีทำให้เราไม่พลาดนัดสำคัญด้วย” อุษา ศรีสง่า พนักงานบริษัท บอกเล่าถึงความรูปแบบการใช้โทรศัพท์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่า มีบางคนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อโต้ตอบสื่อสารเชิงสนทนาประกอบด้วย โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต รับและส่งข้อมูลด้วย E-MAIL ใช้สนทนาออนไลน์ผ่านโปรแกรมแชต เช่น เอ็มเอสเอ็น

สำหรับทางด้านการติดต่อสื่อสาร การพูดคุยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผศ.วงศ์หทัย กล่าวว่าสามารถจำแนกกลุ่มโดยใช้สถิติวิเคราะห์ปัจจัยได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทร.หา ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนรู้จัก มากที่สุด รองลงมาคือการพูดคุยกับบุคคลที่รู้จักผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ไม่เคยพบหน้าจริงๆ
 
“ผมชอบให้เพื่อนแนะนำเพื่อนให้อีกที เพราะเป็นคนขี้อายไม่กล้าเข้าหาใครก่อน โทร.คุยกันก็ไม่เคยเห็นหน้ากันแต่ก็คุยมันเพลินดี คุยวันนึงตกประมาณ 1-2 ชม.ค่าโทร.ก็ไม่ค่อยแพงมากเพราะใช้โปรฯโทร.ฟรี”  “ดิส” - เด็กหนุ่มที่เลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือสื่อสารกับบุคคลที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา

แต่น่าแปลกที่ผลสำรวจ ระบุว่า บุคคลจะโหวตคะแนนให้ดารา/นักร้อง/คนดัง เพื่อชิงรางวัลหรือเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเอง จัดอยู่ในความต้องการใช้น้อยที่สุดเช่นเดียวกับ การโทรหา สามี ภรรยา คนรัก ที่จัดอยู่ในลำดับที่น้อยเช่นกัน

“การดูรายการโทรทัศน์ต่างๆแล้วมีให้ SMS แสดงความคิดเห็นหรือโหวตเสียงให้คะแนนผู้ที่อยู่ในรายการนั้นคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับเรา เพราะไม่ค่อยชอบรายการแบบนี้เท่าไหร่ดูแล้วเหมือนเป็นการจัดฉากมากกว่า โหวตไปก็ไม่ได้อะไรอยู่ดีเปลืองค่าโทรศัพท์เปล่าๆ” “เจล”- นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแสดงทัศนคติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีผลสำรวจเกี่ยวกับความคิดเห็นของบุคคลที่มีต่อการสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสภาพสังคมปัจจุบัน พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พกพาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือได้รับอุบัติเหตุ รองลงมาคือ การเผยแพร่ภาพโป๊ ภาพอนาจาร และโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้ตนเองดูเป็นคนทันยุคสมัย ทันต่อเหตุการณ์

“ในเรื่องของการเผยแพร่ภาพต่างๆ ทางมือถือนั้น มันเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งเรื่องอย่างนี้มันต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย สื่อต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องนั้นคนต้องเลือกใช้และต้องมีส่วนร่วม เทคโนโลยีจะไม่หยุดอยู่แค่ตรงนี้แน่นอน มันยังจะมีการพัฒนาและปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ผู้บริโภคอย่างเราๆยังคงต้องการอะไรใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าหากผู้ใช้ยังไม่หยุดนิ่ง มือถือก็จะมีการพัฒนาต่อไป” ผศ.วงศ์หทัย กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น