xs
xsm
sm
md
lg

“ก.พ.-DSI” จ้องเอาผิดทุจริตสอบ ลั่นยึดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.พ.จับมือ DSI จับตาการทุจริตสอบภาค ก. อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ผ่านมาพบการทุจริตสอบในหลากหลายรูปแบบ เผยมีรายชื่อผู้ต้องสงสัยอยู่ในมือแล้ว พร้อมจับตามองเป็นพิเศษ หากจับได้ดำเนินคดีถึงที่สุด

วันนี้ (27 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายนนทิกร กาญจนะจิตรา รองเลขาธิการก.พ. กล่าวถึงมาตรการในการจัดสอบความรู้ความสามารถทั่วไป ภาค ก.ระดับปริญญาตรี ว่า ในการจัดสอบครั้งนี้จัดให้มีขึ้น 2 วัน ได้แก่วันที่ 30 พ.ย. และ 14 ธ.ค. 2551 นี้ โดยการสอบภาค ก.นั้นเป็นส่วนที่ทางสำนักงาน ก.พ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ ซึ่งจำนวนผู้สมัครในวันที่ 30 พ.ย.นั้นมีทั้งสิ้น 72,000 คน และวันที่ 14 ธ.ค. มีทั้งสิ้น 71,000 คน และสิ่งที่ทางสำนักงาน ก.พ.คาดหวังเป็นอย่างมากคืออยากเห็นการสอบที่มีความสุจริต โปร่งใส ยุติธรรมที่สุด เพราะในการสอบครั้งที่ผ่านมานั้นพบว่ามีการทุจริตการสอบเกิดขึ้นในแนวทางที่หลากหลายวิธี โดยจะทำเป็นขบวนการ

ดังนั้นทางสำนักงาน ก.พ. จึงได้ร่วมมือกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ในการเข้ามาหาข้อมูล เพื่อการป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากไปเตือนไปถึงผู้ที่มาเข้าสอบให้ทำข้อสอบด้วยตัวเอง โดยไม่ใช้วิธีการทุจริตใดๆ เพื่อความโปร่งใสและความภูมิใจของตัวเอง

ด้าน พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมมือกับสำนักงาน ก.พ. สืบสวนการทุจริต การสอบความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ซึ่งพบว่าปัจจุบัน ขบวนการหรือองค์กรต่างๆ เป็นจำนวนมาก กว่า100 กลุ่ม โดยใช้วิธีการต่างๆ อาทิ การ ส่งสัญญาณด้วยร่างกาย และการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายหน้าจัดหา และชักชวนทั้งแบบที่ยังไม่สมัคร และแบบสมัครแล้ว ซึ่งบุคคลที่ต้องการใช้บริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อคนคนละ ประมาณ 40,000 บาทขึ้นไป และถ้าต้องการสอบเลื่อนซี จะเสียค่าใช้จ่าย ซีละ 100,000 บาท และขึ้นอยู่แต่ละองค์กรหากเป็นองค์กรใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

“กระบวนการทุจริตดังกล่าว ได้เริ่มตั้งแต่กระบวนการแรกของการสมัครทางอินเตอร์เน็ต โดยได้ใช้วิธีการสมัครในช่วงยามวิกาล ประมาณ 04.00- 05.00 โดยใช้หมายเลข ไอพีเครื่องคอมพิวเตอร์เดียวกันและสมัครในเวลาที่ติดต่อกันครั้งละประมาณ 50 คน โดยใช้เวลาเพียง 7 นาทีเท่านั้น เพื่อต้องการให้เลขที่นั่งสอบของกลุ่มลูกค้า อยู่ในห้องเดียวกันและนั่งติดกันมากที่สุด ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดหากว่าปรากฎชื่อเข้ามาสมัครสอบอีกครั้ง และหากพบกระทำผิดก็จะดำเนินการจนถึงที่สุด”

ทั้งนี้ ในครั้งที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการควบคุมตัวสอบสวนนางเชอรี่ พิมมาลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญของการทุจริตข้อสอบของสำนักงาน ก.พ. ในทุกๆ ครั้ง ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นบ้านของ นางเชอรี่ พบว่ามีโพย และแผนผังที่นั่งสอบของลูกค้าแต่ละคน ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการเตรียมวางแผนการส่งสัญญาณ อย่างไรก็ตามทางกรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้พบอีกว่า มีข้าราชการบางรายใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งหากข้าราชการมีการกระทำผิดจริงจะมีโทษถึงไล่ออกจากราชการทันที และจะนำคดีดังกล่าวปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย ว่าคดีดังกล่าวสามารถจะเป็นการกระทำผิดในรูปแบบของ อั่งยี่ได้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตามกฎหมายผู้กระทำผิดจะมีโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น