สพฐ.เปิดทางเขตพื้นที่ฯ เรียกพนักงานราชการบรรจุครูผู้ช่วยจากอัตราเกษียณที่ได้รับคืนมาในปี 2550ได้ ขณะเดียวกันยังสามารถเรียกบรรจุจากบัญชีที่สอบไว้ในปี 2550-2551 ได้ด้วย พร้อมทั้งทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอใช้งบประมาณปกติบรรจุครูจากอัตราเกษียณปีงบฯ 2551 ไปก่อน เพราะกรมบัญชีกลางอนุมัติงบไม่ทัน
นายพิษณุ ตุลสุข ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งและวิทยฐานะ ซึ่งทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และมีมติอนุมัติให้ใช้อัตรากำลังข้าราชการครูที่ได้รับคืนจากการเกษียณอายุราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 มาบรรจุเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วยในโรงเรียนต่างๆ ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศูนย์การศึกษาพิเศษตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดรวม 1,658 อัตรานั้น ขณะนี้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสามารถเรียกบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยได้แล้ว โดยสามารถใช้วิธีเปิดสอบบรรจุครูใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี สพท.ใดทำเรื่องเสนอขออนุมัติเข้ามายัง สพฐ. เนื่องจากการเปิดสอบบรรจุครูใหม่ต้องใช้งบประมาณ รวมถึงยังสามารถเรียกบุคคลที่ขึ้นบัญชีไว้ในปี 2550 และ ปี 2551 มาบรรจุได้ อีกทั้งอัตราดังกล่าว เป็นอัตราที่ได้จากการเกษียณอายุราชการ ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยังสามารถเปิดสอบคัดเลือกวิธีพิเศษจากพนักงานข้าราชการ ร้อยละ 25% ของอัตราที่แต่ละเขตพื้นที่ได้รับ มาบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้อีกด้วย
นายพิษณุ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าการบรรจุครูผู้ช่วย 5,152 อัตราที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนให้ 100% จากการเกษียณอายุราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสาน คปร. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติ พร้อมกันนั้น สพฐ.ก็ยังรอกรมบัญชีกลางอนุมัติให้ สพฐ.ใช้งบประมาณปี พ.ศ.2552 เพื่อมาใช้ในการบรรจุดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงบประมาณไม่สามารถจัดตั้งงบประมาณได้ทัน เพราะ ครม.อนุมัติให้คืนอัตราจากการยุบเลิกเกษียณอายุราชการ 100% หลังจากที่มีการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2552 แล้ว ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติต่อกรมบัญชีกลางในการใช้งบประมาณปี 2552 เพื่อนำมาใช้ในการบรรจุไปก่อน โดยจะให้สำนักงบประมาณจัดตั้งงบฯ กลางมาคืน สพฐ.ภายหลัง ซึ่งขณะนี้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว จากนั้น สพฐ.ก็ยังต้องมาพิจารณาเกลี่ยอัตราดังกล่าว จากเขตพื้นที่ฯ ที่เกิน ไปยังเขตพื้นที่ฯ ที่ขาดด้วย