xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทุ่มงบแสนล้าน ยกเครื่องบริการสุขภาพของขวัญปีใหม่คนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ทุ่มงบกว่า 100,000 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาด้านสุขภาพ ยกเครื่องบริการสุขภาพในทศวรรษที่ 10 ตั้งแต่ปี 2552-2555 เฉพาะปี 2552 ของบกลางปีเพิ่มอีกกว่า 5,000 ล้านบาท พัฒนา 6 โครงการใหญ่ เพิ่มหน่วยไตเทียมกว่า 800 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ พัฒนามาตรฐานห้องสุขาใน รพ.เพิ่มอุปกรณ์ออกกำลังกาย หวังให้คนไทยมีสุขภาพดี ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพถ้วนหน้า

วันที่ 27 พฤศจิกายน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนหน่วยงาน สมาคม องค์กรต่างๆ ทำพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงวางรากฐานการสาธารณสุขไทยให้เจริญก้าวหน้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายนทุกปี ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 90 ของการสาธารณสุขไทยด้วย

ในครั้งนี้มีการทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จากนั้นได้ประกอบพิธีสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้อดีตข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ล่วงลับไปแล้ว

นายวิชาญ กล่าวว่า ในปี 2551 เป็นปีครบรอบ 90 ปีของการสาธารณสุขไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข ต่อมาได้ยกฐานะเป็นกระทรวงการสาธารณสุขตั้งแต่ 10 มีนาคม พ.ศ.2485 และเปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุขนั้น การสาธารณสุขไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีความสำเร็จหลายด้าน เช่น การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ อาทิ โปลิโอ โรคไข้หวัดนก การอนามัยแม่และเด็ก อยู่ระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในการพัฒนาระบบริการสาธารณสุขในทศวรรษที่ 10 นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการยกเครื่องบริการครั้งใหญ่ 2 โครงการ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการทั้งในเรื่องบริการรักษา เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ บุคลากร เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ชาวไทยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ระบบบริการทุกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐานและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่เพิ่มปีละประมาณ 800,000 คน เสียชีวิตปีละประมาณ 3 แสนคน ทั้งหมดล้วนต้องให้การดูแลรักษาตั้งแต่เกิดจนตายทั้งสิ้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนาทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานที่และคุณภาพการให้บริการมานานกว่า 10 ปี ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงการแรก ได้แก่ โครงการเมกกะโปรเจก (Mega Project) พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2552-2555 จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 105,494 ล้านบาท ได้แก่1. พัฒนาสถานีอนามัยระดับต่างๆ เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนมีแพทย์พยาบาลประจำ 1,000 แห่ง วงเงิน 6,159 ล้านบาท 2.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในระดับอำเภอ 154 แห่ง วงเงิน 9,799 ล้านบาท 3.พัฒนาคุณภาพบริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 116 แห่งวงเงิน 23,529 ล้านบาท 4. พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง163 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์หัวใจ 69 แห่ง ศูนย์มะเร็ง 34 แห่ง และศูนย์อุบัติเหตุ 60 แห่ง วงเงิน 19,425 ล้านบาท

5. ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรืออาโรคยาศาล 1 แห่งวงเงิน 707 ล้านบาท 6. พัฒนาศูนย์ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วย 19 แห่งวงเงิน 1,812 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 7.สนับสนุนการปฏิบัติงาน/สร้างที่พักบุคลากร 1,300 หน่วยวงเงิน 19,160 ล้านบาท 8.จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการทุกระดับทั่วประเทศ วงเงิน 9,199 ล้านบาท 9.ผลิตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพและอื่นๆ เพิ่ม รวม 24,478 คน และพัฒนาศักยภาพบุคลากร จำนวน 25,366 คน วงเงิน 13,155 ล้านบาท และ10. พัฒนาระบบข้อมูลการบริการสุขภาพทั่วประเทศ 1 ระบบวงเงิน 2,713 ล้านบาท

“ข่าวดีโครงการที่ 2 ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ของบกลางปีเพิ่มจากงบปกติอีกประมาณ 5,700 ล้านบาท พัฒนาสถานบริการและงานด้านสาธารณสุข 6 โครงการ ได้แก่ 1. เพิ่มหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 856 เครื่อง วงเงิน 840 ล้านบาทเศษ ซึ่งเครื่องไตเทียมขณะนี้มีเพียง 1,400 เครื่อง ไม่เพียงพอกับผู้ป่วยโรคไตวายที่มีกว่า 90,000 ราย และพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนวงเงิน 2,898 ล้านบาทเศษ” นายวิชาญกล่าว

2.โครงการพัฒนามาตรฐานห้องสุขาผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ในสถานบริการสาธารณสุขวงเงิน 71 ล้านบาทเศษ 3. โครงการจัดตั้งศูนย์กายภาพบำบัดและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในโรงพยาบาลและสถานีอนามัย วงเงิน 1,179 ล้านบาทเศษ 4.โครงการพัฒนาศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพวงเงินเกือบ 40 ล้านบาท 5.โครงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ และระบบออกซิเจนดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติฉุกเฉินให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ วงเงิน 641 ล้านบาทเศษ และพัฒนาโครงการทีวีสุขภาพเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 120 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น