กรมอนามัยเผยบริษัทนมสำหรับทารกเมินประกาศกระทรวงหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กฯ พบละเมิดเพียบแจกโลโก้บริษัทนมให้แม่ชักจูงกินนมผงแทนนมจากเต้าเหตุฝ่าฝืนไม่มีโทษ ลั่นใช้มาตรการทางสังคมลงโทษประจานบริษัททำผิด
วันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการแถลงข่าวประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 ร่วมกับนายโทโมอุ โฮซุมิ (Mr.Tomoo Hozumi) ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ดร.อดิศักดิ์ สัตย์ธรรมผู้แทนองค์การอนามัยโลกแห่งประเทศไทย (WHO Thailand)
นพ.โสภณ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกจำนวน 118 ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (code นม) เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งกรมอนามัยได้ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา โดยได้ทำหนังสือเวียนแจ้งให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจแล้ว รวมทั้งจะเรียกผู้ประกอบการมาร่วมลงสัตยาบันให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดพบว่า ยังคงมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนละเมิดหลักเกณฑ์ โดยพบว่า แม่ได้รับการติดต่อจากผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 69
“จากการตรวจสอบพบว่า ในโรงพยาบาลของรัฐไม่มีการแจกตัวอย่างนมผงให้กับแม่แล้ว แต่ในโรงพยาบาลเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการจึงทำให้มีการใช้นมผงสำหรับทารกอยู่จำนวนมาก อีกทั้งตัวแทนจำหน่ายก็มีการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ในการส่งเสริมการขาย เช่น ห้ามไม่ให้แจก แถม ผลิตภัณฑ์ ก็เลี่ยงไปใช้วิธีแจกของที่ระลึกที่มีตราสินค้าให้กับแม่แทน ซึ่งถือเป็นโฆษณาแฝงรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับทำให้ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่มีโทษตามกฎหมาย ขณะนี้จึงใช้มาตรการทางสังคมมากำกับดูแลเนื่องจากธุรกิจประเภทถือว่าเป็นธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม” นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุม กำกับ และติดตามการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อกำกับและประเมินการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย และผู้แทนสมาคมบริษัท ผลิตภัณฑ์นมแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากเอ็นจีโอร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งหากพบว่าผู้ประกอบการรายใดที่ละเมิดหลักเกณฑ์ก็จะมีการรวมรวมแล้วส่งข้อมูลไปยังองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูนิเซฟ แล้วเผยแพร่ประกาศให้สังคมรับรู้ว่ามีบริษัทใดบ้างที่ไม่ส่งเสริมการเลี้ยงแม่ด้วยนมลูกโดยยังส่งเสริมการขายและค้ากำไรโดยละเมิดหลักเกณฑ์สากลนี้
นอกจากนี้ ได้มีนักวิชาการพยายามที่จะผลักดันให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีออกเป็นกฎหมาย โดยให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ แต่ปัจจุบันทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานประกันสังคม ยังไม่มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากนัก
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทารกได้มีโอกาสกินนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน และกินควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัยจนอายุ 2 ปี ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย โดยองค์การยูนิเซฟ สำรวจในปี 2549 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งถือว่าต่ำมาก เป็นอันดับที่ 3 ก่อนลำดับสุดท้ายของโลก และเป็นอันดับสุดท้ายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินโครงการสายใยรักครอบครัวในโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นเป็นร้อยละ 25 โดยกรมอนามัยจะลงพื้นที่ในการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งพัฒนาการของเด็กภายในปีนี้ด้วย
“ผลการศึกษายันยันแล้วว่า ทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน จะมีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงถึง 2-11 จุด นอกจากนี้ ยังทำให้พัฒนาการของเด็กแรกเกิด- 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 ในปี พ.ศ.2542 เหลือเพียง ร้อยละ 67 ในปี 2550 มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคท้องร่วง โรคทางเดินอาหารหรือโรคภูมิแพ้” นพ.โสภณ กล่าว
สำหรับใจความสำคัญของหลักเกณฑ์นี้ คือ 1.ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารทารกและเด็กเล็ก 2.ห้ามแจกตัวอย่างสินค้าและของขวัญฟรีแก่แม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.ห้ามพนักงานการตรลาดติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว 4.ห้ามให้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ ห้ามบริจาคสินค้าฟรี หรือจำหน่ายราคาถูก 5.ห้ามให้ของขวัญหรือตัวอย่างสินค้าแก่บุคลากรสาธารณสุข 6.การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการอาหารทารกต้องได้รับการอนุญาตจากกรมอนามัย 7.ข้อมูลที่ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง 8.ฉลากต้องไม่แสดงรูปภาพของทารกหรือข้อความชักจูงให้ใช้สินค้า 9.บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กควรปฏิบัติตาม code แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายเฉพาะของ code นมก็ตาม