“น้องๆ กำลังจะไปเรียนวิชาอะไรจ๊ะ”
“หนูกำลังไปเรียนวิชาบินลัดฟ้าน่าสนุกค่ะ”
“แล้วน้องอีกคนล่ะ กำลังจะไปเรียนวิชาอะไร”
“ผมกำลังจะไปเรียนวิชาเด็กน้อยร้อยล้านครับ”
หลายคนฟังบทสนทนาข้างต้นของนักเรียนตัวน้อยใน “โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม” แล้วอาจเกิดความสงสัยว่า เด็กๆ สมัยนี้เขาไม่เรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ กันแล้วหรือ แล้วทำไมชื่อวิชาถึงได้ฟังดูน่าเรียนถึงขนาดนี้
แต่เมื่อฟังคำตอบแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งครูบาอาจารย์ที่ยังไม่เคยทราบมาก่อนจะต้องถึงบางอ้อ เพราะวิชาเหล่านี้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “หลักสูตรตามแนวคิด FUN FIND FOCUS” ที่สาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถมสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษา โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเป็นรายบุคคล ซึ่งผู้เรียนมีโอกาสได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ สนใจและมีความถนัด
นอกจากนี้ ยังเป็นหลักสูตรที่ทั้งผู้เรียน ผู้ปกครองและครูผู้สอนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สำรวจ ค้นหาและค้นพบตัวเองอีกด้วย
** กำเนิด FUN FIND FOCUS
รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรตามแนวคิด FUN FIND FOCUS ว่า หลักสูตรตามแนวคิด FUN FIND FOCUS เป็นหลักสูตรที่ได้มาจากการวิจัยโดยคณาจารย์ของสาธิตจุฬาฯ เอง
โดยจะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน
ช่วงแรก FUN หรือความสนุกสนาน จะเป็นการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.2 เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักว่า ตัวเองชอบอะไร สนใจอะไร ซึ่งเมื่อโตขึ้นเขาจะได้รู้ว่า อยากเรียนอะไรกันแน่
ช่วงที่สอง FIND หรือการค้นหา เป็นการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ป.3-ป.4 คือให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ โดยให้เลือกวิชาที่จะเรียนได้อย่างเสรี และช่วงสุดท้าย FOCUS เป็นการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ป.5-ป.6 โดยเมื่อนักเรียนได้รู้แล้วว่าถนัดอะไร ชอบอะไร เช่นถนัดดนตรี ถนัดด้านภาษา ก็สามารถพุ่งเป้าไปเรียนวิชาที่ตนเองชอบได้อย่างตรงเป้าหมาย
“เราทำหลักสูตรนี้โดยผ่านการวิจัย โดยทำมาตั้งแต่ปี 2548-49 และขยายผลไปทั่วประเทศ เรามองว่าระบบนี้เด็กนอกจากจะได้เรียนอย่างสนุกสนานแล้ว ยังได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เมื่อเขาต่อยอดไปถึงระดับมัธยมฯ ก็จะรู้ได้ว่าจะเรียนอะไร หมอ วิศวะ นิติศาสตร์ เพราะเขามีพื้นฐานตรงนี้ เวลาเขาเรียนมหาวิทยาลัยจะได้ไม่ถูกบังคับ”
รศ.ลัดดาอธิบายรายละเอียดของหลักสูตรเพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าชอบได้ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนชั้น ป.5-ป.6 จะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือวิชาบังคับทุกคนต้องเรียน ส่วนที่สองคือวิชาบังคับเหมือนกันแต่เลือกได้ เช่น วิชาพลศึกษาที่นักเรียนสามารถเลือกประเภทกีฬาได้ ถ้าไม่ถนัดยิมนาสติก ก็สามารถเรียนแบดมินตัน ฟุตบอลหรือกีฬาประเภทอื่นๆ ที่เปิดสอนได้ หรือนาฏศิลป์ก็จะแบ่งเป็นศิลป์สากล ดนตรีไทย คนที่ชอบอะไรก็เรียนไป คนที่ร้องไม่เป็นก็ไปรำ เป็นต้น
สำหรับส่วนที่สามเป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนได้ตามความพอใจ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนเรียนได้เหมือนกับนิสิต ถ้าเรียนแล้วไม่ชอบสามารถถอดได้ เหมือนการลงทะเบียนของนิสิต
“เด็กทุกคนต้องได้เรียนเท่าเทียมกันตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรามองว่าตรงนั้นเด็กได้ เท่ากันแล้ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเด็กน่าจะได้แสดงศักยภาพ ความสามารถและความถนัด เราก็เลยจัดเสริมให้เรียกว่าความรู้ขั้นสูง ทักษะขั้นสูง มันก็มาจากโรงเรียนให้อาจารย์ผู้สอนในวิชาต่างๆ อยากจะสอน เช่น การสอนเถ้าแก่น้อย อยู่ในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ จะสอนให้เขาคิดเป็น ผลิตเป็น ไม่ใช่แต่บริโภคอย่างเดียว ให้เรียนรู้ว่าถ้าจะเป็นเถ้าแก่น้อยจะต้องทำอย่างไรบ้าง และจะมีการประเมินรายวิชาซึ่งอาจารย์ทุกคนจะต้องเขียนรายละเอียดของรายวิชา สอนระดับไหนบ้าง เพราะของเราสอน ป.3- ป.4 เรียนรวมกันได้ ป.5-6 เรียนรวมกันได้ในวิชาเลือกเสรี”
“สิ่งที่ตามมาก็คือ เราได้เด็กที่มีความสามารถจากนักเรียนที่เลือกรายวิชาเหล่านี้ เด็กสาธิตจุฬาฯ ขณะนี้ 1,500 คน จะไม่เหมือนกับเด็กไทยอีกหลายล้าน เราก็จะสอนให้เขารักอิสระตั้งแต่เล็ก”
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรู้ความสามารถเข้าช่วยจัดทำหลักสูตรและช่วยสอนหนังสือในโรงเรียนด้วย ทั้งนี้พ่อแม่ที่อาสามาสอนจะต้องเขียนรายละเอียดของวิชาเช่นเดียวกันกับครูคนอื่นๆ ซึ่งต้องเลือกเวลาเองว่าจะสอนวันไหน สอนกี่ชั่วโมง โดยขณะนี้มีผู้ปกครองมาสอนในโครงการนี้ประมาณ 50-60 คนแล้ว ซึ่งเกณฑ์วัดในโครงการผู้ปกครองอาสาสอนนั้นจะมีแค่ผ่านหรือไม่ผ่าน แต่พ่อแม่จะเป็นคนตั้งเกณฑ์เอง ประเมินเองไม่มีการคิดเกรด
** ขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่าย
อย่างไรก็ตาม นอกจากจัดหลักสูตรตามแนวคิด FUN FIND FOCUS ภายในโรงเรียนแล้ว สาธิตจุฬาฯ ยังได้ขยายเครือข่ายออกไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีกด้วย
รศ.ลัดดาให้ข้อมูลว่า ทางโรงเรียนได้นำหลักสูตรไปทำการทดลองและวิจัยใน 10 โรงเรียนในส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่งและโรงเรียนมัธยมศึกษา 5 แห่ง ทั้งนี้ สิ่งที่ค้นพบก็คือโรงเรียนขนาดเล็กจะจัดหลักสูตรนี้ได้ผลดี เพราะเปลี่ยนอะไรได้ง่าย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่จะมีข้อจำกัดมาก เพราะต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงคน
ยกตัวอย่าง เช่น โรงเรียนหนองฮีหนองแคน จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันจัดหลักสูตรคล้ายสาธิตจุฬาฯ มีครู 9 คน มีนักเรียน 93 คน ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชน และผู้ปกครองดีมาก หรือที่โรงเรียนบ้านวังสาน จ.พิษณุโลก ก็ประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือจากชุมชน ผู้ปกครองมาช่วยสอนในตลาดนัดวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายใหม่ของการศึกษาไทย
“เรามองว่าตัวหลักสูตรนี้ถ้าโรงเรียนต่างๆ นำไปใช้จะได้ผลดี เพราะเราจะรู้ว่าระดับความสามารถของตัวเองได้แค่ไหน ถนัดอะไร เด็กจะได้ไม่แข่งกัน ถ้าเขารู้ศักยภาพตัวเองเขาจะเลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง แต่ได้ผลดีเหมือนกัน ขอให้ได้เรียนตามที่ตัวเองถนัดก่อน เช่น นักเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองฮีหนองแคน อยากเรียนหมอ เขาสามารถสอบเข้าที่ม.ขอนแก่นก็ได้ไม่ต้องมาที่จุฬาฯ หรือมหิดล เพราะจบหมอที่ไหนก็เหมือนกัน แต่ถ้าอยากเชี่ยวชาญก็ให้ต่อยอดที่หมอเฉพาะด้าน หลังจากเรียนจบ นี่คือข้อดีของการรู้จักตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร อะไรเหมาะกับเขา”
นอกจากนั้น สาธิตจุฬาฯ ก็กำลังทำการเรียนการสอนในระบบอี-เลิร์นนิ่งใน 3 วิชาคือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือครูในต่างจังหวัดที่ส่วนใหญ่มักสอนไม่ตรงตามสาขาที่จบมาอีกด้วย
สำหรับโรงเรียนและคุณครูท่านใดที่สนใจหลักสูตรตามแนวคิด FUN FIND FOCUS สามารถเข้าร่วมชมการสาธิตการเรียนการสอน รวมทั้งการบรรยายทางวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ ได้ในงานเปิดบ้านสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เนื่องในโอกาส 5 ทศวรรษสาธิตจุฬาฯ ในวันศุกร์ที่ 28 พ.ย.และวันเสาร์ที่ 29 พ.ย.นี้ โดยแจ้งเจตจำนงไปที่ ร.ร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โทร.0-2218-2747