"...อนาคตของชาติที่วาดฝันว่า เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะนำความเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขมาสู่โลก...แต่ในความเป็นจริง ทุกวันนี้สภาพที่เด็กขาดความรัก การดูแลเอาใจใส่และความเข้าใจ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ บั่นทอนโอกาสของพวกเขา ให้เป็นจริงได้น้อยลง...การช่วยเด็กด้วยการให้ในสิ่งที่ไตร่ตรองแล้วว่าดี ให้อาหาร ให้นิทาน ให้แง่คิด จินตนาการ ให้ความรัก ความมั่นใจ ให้ความหวังเป็นการเติมพลังวัยเยาว์ ให้เติบใหญ่ สู่การสร้างสรรค์" ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิเด็กกล่าวไว้
ปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับเด็กขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน ขาดสารอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดความรักความอบอุ่น ตลอดจนไม่ได้รับการศึกษา ก่อให้เด็กบางคนใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายกลายเป็นเด็กเร่ร่อน...จนเกิดปัญหาเด็กยากจนถูกส่งไปขายแรงงานตามโรงงาน หรือถูกล่อลวงไปค้าประเวณีในที่สุด
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปี ก่อน ประมาณปลายปี 2521 มูลนิธิเด็กจึงเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้น เพื่อทำงานด้านการศึกษา การขาดสารอาหารของเด็ก สิทธิเด็กและศิลปวัฒนธรรมเพื่อเด็กยากไร้ในสังคมไทย ทุกโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ความสร้างสรรค์ของมูลนิธิเด็ก เกิดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหา และสร้างทางเลือกเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสรรค์สังคมสำหรับเด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยทุกกิจกรรมล้วนตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า
"เด็กต้องมีร่างกาย อารมณ์ จิตใจที่สมบูรณ์ก่อนที่จะก้าวไปสู่ การพัฒนาทางด้านสติปัญญา และสังคม"
ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการดำเนินงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กๆ และครอบครัวที่ทุกข์ยากนั้น ทางมูลนิธิเด็กพบว่าปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้นมีความหลากหลาย แนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดูแลและแก้ไขในระดับของโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้ การกระจายที่ดิน การกระจายทุน และมีสวัสดิการที่ดีมีระบบภาษีที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม
พิภพ ธงไชย กรรมการเลขานุการมูลนิธิเด็ก ขยายความว่า
"เราอยากเห็นสังคมไทยอุดมสุข คำว่า สังคมไทยอุดมสุขต้องเริ่มต้นที่เด็กอุดมสุข เด็กจะอุดมสุขได้ผู้ใหญ่ต้องอุดมสุข ผู้ใหญ่จะอุดมสุขได้การเมืองต้องอุดมสุข มันเป็นเหตุปัจจัยที่มาเป็นทอดๆ เพราะฉะนั้น เวลาแก้ไขปัญหาเด็กจะแก้ไขแบบสังคมสงเคราะห์ไม่ได้
"จริงอยู่สังคมสงเคราะห์เป็นเครื่องมือตามวัฒนธรรมของสังคมไทย แต่มูลนิธิเด็กได้พัฒนางานของสังคมสงเคราะห์ให้เป็นงานทางความคิด เป็นงานของปัญหา แล้วพัฒนาความคิดและปัญหาให้เป็นงานทางนโยบายของพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาล แล้วไปเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเด็กเสียใหม่ อย่างที่เราเคยเปลี่ยนมาแล้วว่าเด็กไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เด็กมีสิทธิ"
ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจึงไม่ใช่ปัญหาที่แยกเป็นส่วนๆ แต่ต้องมีการมองปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างบูรณาการทั้งระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่มูลนิธิเด็กให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น และพิภพกับรัชนี ธงไชย คู่ชีวิตก็ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตพิสูจน์ให้เห็นระบบการศึกษาทางเลือกผ่านโรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่กาญจนบุรี
"ก่อนหน้านี้ไม่มีใครพูดเลยว่าเด็กจะต้องมีความสุขในระบบโรงเรียน พูดแต่ว่าเด็กต้องเรียนเก่ง เด็กต้องเรียนต่อให้ได้ ต้องเข้าโรงเรียนนายร้อน จปร. ให้ได้ ต้องเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ให้ได้ เพราะคนยังมองไม่เห็นว่าปัญหาการศึกษาระบบโรงเรียนทำให้เด็กเป็นทุกข์ ในเส้นทางระบบโรงเรียนทั้งหมดทำให้เด็กไม่มีความสุข เกิดความเครียด ระบบโรงเรียนของไทยเป็นระบบที่ทำลายศักยภาพและความเก่งของเด็ก เนื่องจากจัดความเก่งของเด็กๆ ให้เป็นแนวเดียวกันหมด
"ส่วนเด็กที่ไม่เข้าร่องของระบบการศึกษาไทยจะถูกเบียดออกจากระบบ ซึ่งเรียกว่าระบบแพ้คัดออก มูลนิธิเด็กจึงตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โดยชูประเด็นสำคัญคือ เด็กต้องมีความสุขในระบบโรงเรียน ซึ่งทำมา 30 ปี จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญถึงได้นำเรื่องนี้เข้าไปเขียนไปไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องการศึกษา แต่นักการเมืองในรัฐสภาก็มักจะพูดถึงแต่วรรคแรกคือเรื่องเรียนฟรี วรรคสองเรื่องการมีส่วนร่วมของคนพิการ ส่วนวรรคสามเรื่องการศึกษาทางเลือกยังไม่ค่อยถูกพูดถึง อันนี้คือสิ่งที่โรงเรียนหมูบ้านเด็กทำมาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของเด็กแต่ละคน"
30 ปี มูลนิธิเด็ก ในวาระโอกาสดังกล่าวนี้ ทางมูลนิธิเด็กจึงจัดให้มีกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ขึ้นตลอดทั้งปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้สังคมตระหนักเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม และส่งเสริมให้คนในสังคมได้เข้ามามีการส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย และถือได้ว่าเป็นการสร้างจิตอาสาสาธารณะให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจ และสังคมมีความวิกฤติและอ่อนแอมากที่สุด ซึ่งในภาวะการณ์เช่นนี้ ความสนใจของสังคมมักจะมุ่งเข็มเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก กระทั่งหลงลืม ละเลย ส่วนสำคัญอื่นๆ ที่ต้องเยียวยาไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องในเชิงสังคม-วัฒนธรรม
"วัฒนธรรมเกี่ยวกับเด็กหลายเรื่อง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เด็กยอมจำนน จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เราอยากให้งานเรื่องเด็กเป็นของสังคมโดยรวม ไม่ใช่งานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ใช่งานของรัฐบาลเท่านั้น แต่แน่นอนรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบาย และให้การสนับสนุนทุนต่างๆ ในการช่วยเหลือเด็ก แต่ถึงยังไงถ้าประชาชนไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ รัฐบาลก็จะเฉยเมย"
งานเปิดบ้านแห่งการเรียนรู้ (30ปีมูลนิธิเด็ก) "อยากเห็นสังคมไทยอุดมสุข" เป็นมหกรรมแห่งความสุขในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการเฉลิมฉลองการแบ่งปันกันความสุขอันได้แก่ ความรู้ ประสบการณ์ รอยยิ้ม มิตรภาพ และความบันเทิง ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น การเสวนา "ร่วมคิด ร่วมแบ่งปัน ร่วมสร้างสรรค์ชีวิตใหม่" จัดขึ้นบริเวณเวทีกลางแจ้งหน้าอาคารโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก
โดยในการเสวนานี้ เป็นการพูดคุยกันถึงประเด็นปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จากความเห็นของเหล่าคนทำงานด้านเด็กในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ จากกลุ่มลูกเหรียง จังหวัดยะลา ดำเนินงานด้านเด็กที่เผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงและการก่อการร้ายในภาคใต้ บุญถนอม ศรีแผ้ว ผู้ประสานโครงการมูลนิธิศูนย์รวมมิตรเพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดเชียงราย ที่ดูแลในส่วนของเด็กและเด็กพิการไร้รัฐ และ สุธาสินี น้อยอินทร์ ประธานมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดยโสธร ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ HIV ในภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมี ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมายคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อุษณีย์ เชี่ยวพิมลพร ผู้ประสานงานโครงการโรงเรียนโรงงาน จังหวัดศรีสะเกษ มาร่วมในการเสวนาครั้งนี้ด้วย
จากการต่อสู้ยาวนานมาตลอด 30 ปี จากวันที่สังคมไทยยังไม่รู้จักว่าสิทธิเด็กคืออะไร ซ้ำยังตั้งคำถามกลับด้วยว่า 'เด็กจะมีสิทธิไปทำไม?' ถึงวันนี้ คงต้องยอมรับว่าการทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่มูลนิธิเด็กเป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่ช่วยกันเบิกทาง ได้ก้าวมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังมิใช่ทั้งหมด การแบ่งแยกยังคงดำรงอยู่ แบ่งเขา แบ่งเรา แบ่งเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องสานต่อเพื่อลบเส้นแบ่งดังกล่าว
"เด็กตามตะเข็บชายแดนที่พม่าก็ไม่รัก ไทยก็ไม่รับ อันนี้น่าสงสารมาก เพราะพวกเขาจะกลายเป็นเหยื่อของสังคมทั้ง 2 ประเทศ มูลนิธิเด็กจึงหันไปทำงานให้กับเด็กเหล่านี้ด้วย เพื่อให้เขากลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย
"หรือการมองปัญหาเด็กว่าเป็นแค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเด็กทั้งหมดเวลานี้ต้องรีบแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ผมอยากฝากท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ว่าเราต้องทำอย่างจริงจังเรื่องนโยบายเด็ก อย่าให้เด็กเดินไปในกรุงเทพฯ แล้วเจอพิพิธภัณฑ์ยาก เจอห้องสมุดยาก แต่เจอโรงแรมม่านรูดง่าย เจออาบอบนวดง่าย เจอที่ดื่มสุราง่าย คิดว่าอันนี้จะต้องแก้ไข ซึ่งการแก้ไขปัญหาเด็กจะแก้ไขเฉพาะจุดไม่ได้ ต้องมองแบบองค์รวม ต้องดูว่าจุดเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดปัญหาเด็กมีอะไรบ้าง
"ผมอยากถือโอกาสพูดไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ท่านจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเด็ก แต่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ระบบการศึกษา และระบบวิธีคิดของสังคมไทยเป็นเหตุเป็นผล ชี้ให้เห็นว่าปัญหาแต่ละปัญหาไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรแต่ง แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ สังคมไทย ผู้ใหญ่ และนักการเมืองเป็นคนกำหนด"
พิภพ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ โดยเชื่อมโยงปัญหาเด็กและเยาวชนกับปัญหาการเมืองและการสร้างการเมืองใหม่ว่า
"การจะแก้ไขปัญหาเด็กต้องแก้ไขปัญหาการทางการเมือง ผมไม่อยากเอ่ยคำว่า การเมืองใหม่ เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป แต่ยังไงการเมืองก็เป็นตัวกำหนด ในอดีตการเมืองเก่าได้สร้างปัญหาให้ทั้งสังคมไทยและปัญหาเด็กมายาวนาน ผมหวังว่ารัฐบาลจะสร้างการเมืองใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วนของสังคม แน่นอนในนามมูลนิธิเด็กยืนยันว่าเด็กต้องเป็นเป้าหมายแรกและเป้าหมายสำคัญ ไม่เช่นนั้นหากมองข้ามไปในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ถ้าเราแก้ไขปัญหาเด็กไม่ได้ปัญหาสังคมจะตามมา นั่นคือเราจะได้ผู้ใหญ่ซึ่งไร้คุณภาพและไม่มีความตระหนักในปัญหาสังคม"
***************************************
ในสภาวะปัญหาที่ประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาในแต่ละภูมิภาคให้ได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิเด็กจึงจะดำเนินการจัดหางบสนับสนุน 3 กองทุนเพื่อ 3 นโยบายปัญหาเด็กในแต่ละภูมิภาค
1. กองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา , ปัตตานี , นราธิวาส) (1,000,000 บาท)
2. กองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ติดเชื้อHIV,เด็กติดเชื้อและเด็กยากจนในภาคอีสาน (ภาคอีสานมีเด็กที่ยากจนมากที่สุด) (1,000,000 บาท)
3. กองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กไร้รัฐและเด็กพิการที่ไร้รัฐภาคเหนือ (1,000,000 บาท)
หมายเหตุ : มูลนิธิเด็กมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กในแต่ละภูมิภาค ในวาระ 30 ปีนี้ จึงจัดให้มีการรณรงค์เพื่อจัดทำเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในแต่ละภูมิภาคและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต่อไป รวมถึงการขยายพื้นที่ของการทำงานในการช่วยเหลือเด็กด้วยการเชื่อมโยงนำเอาสถาบัน/โครงการต่างๆ ของมูลนิธิเด็กเข้ามาร่วมดำเนินงานในแต่ละภูมิภาคต่อไป
*****************************************
--- ขอขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิเด็ก ---