ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้ผลการตรวจเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนทั่วประเทศ ติดต่อกันกว่า 2 ปี ยังไม่พบติดเชื้อไข้หวัดนก ส่วนผู้ป่วยหญิงวัย 44 ปีที่จังหวัดสุโขทัย รายที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสังวร ผลการตรวจยืนยันทางห้องห้องปฏิบัติการ พบเป็นไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ไม่ใช่เชื้อไข้หวัดนก หายเป็นปกติแล้ว
จากกรณีที่มีข่าว มีหญิงวัย 44 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย มีอาการไข้ ไอ สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก เนื่องจากมีประวัติสัมผัสไก่ และที่บ้านมีไก่ซึ่งเลี้ยงไว้ตายจำนวนมาก ขณะนี้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสังวร จ.สุโขทัยนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2551) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลศรีสังวร จ.สุโขทัย พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเนินบางขัง อ.สวรรคโลก เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุขในระบบปกติ โดยมีอาการป่วย มีไข้ ไอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกตายผิดปกติ แพทย์จึงได้รับตัวเข้ารักษาสังเกตอาการที่โรงพยาบาลสวรรคโลก
ต่อมาพบมีปอดอักเสบด้วย จึงส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีสังวร ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ไม่ใช่ติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด และให้กลับบ้านตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551 โดยได้นัดติดตามผลการรักษาในวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ผลเป็นปกติดี ส่วนผลการเฝ้าระวังในจังหวัดสุโขทัย หลังพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัยไข้หวัดนก
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกในคน กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนัก 3 มาตรการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีกที่ป่วยตายผิดปกติ ไม่ให้สัมผัสซากสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า ไม่นำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาชำแหละเป็นอาหาร ประการที่ 2 คือ การเฝ้าระวังผู้ป่วยในหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกป่วยตายโดยอสม. กว่า 800,000 คนทั่วประเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลทุกระดับ รายใดที่มีอาการไข้ ไอ เป็นไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกทุกราย เพื่อให้การรักษาในห้องแยกปลอดเชื้ออย่างทันท่วงที
ประการสุดท้าย ได้ตั้งมิสเตอร์ไข้หวัดนกในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามควบคุมกำกับระบบการควบคุมป้องกันในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดกว่า 2 ปี หลังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายสุดท้ายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ขอให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกทุกครั้ง ห้ามปิดบังอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะเป็นผลเสียในการรักษา อาจไม่ทันท่วงที