xs
xsm
sm
md
lg

“ประสม สุสุทธิ” ช่างแทงหยวกสองพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพรัตนฯ ขณะทรงแทงหยวกเป็นลายรัดเกล้า ในงานพระเมรุสมเด็จย่า
“เดือนกันยา เราคิดว่าพ่อเสียแน่นอน ทำใจกันทั้งบ้าน พ่อกินไม่ได้ ร่างกายผอมเหลือแต่กระดูก คิดว่าอย่างไรเสียพ่อก็คงไม่ได้แทงหยวกถวายในงานพระเมรุพระพี่นางฯ แล้ว แต่ในที่สุด พ่อก็ฟื้น ที่พ่อมีลมหายใจอยู่จนวันนี้ ก็เพราะสำนึกในพระกรุณาธิคุณ อยากใช้ฝีมือและประสบการณ์ทั้งหมด เพื่อแทงหยวกถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย”

“พิษณุ สุสุทธิ”
ทายาทคนโตของ “ประสม สุสุทธิ” ช่างแทงหยวก วัย 87 ปี หนึ่งในผู้สืบทอดตำนานศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรบุรี บอกเล่าถึงความมุ่งมั่นของผู้เป็นพ่อที่ ณ เวลานี้ต้องสวมเฝือกประคองกระดูกสันหลังทับเอาไว้ รวมทั้งอีกสารพัดโรค เช่น ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

แม้วันนี้ ประสม จะมีสภาพร่างกายจะดูอิดโรยอ่อนแรง แต่ดวงตาฝ้าฟางยังคงทอประกายความหวังและศรัทธาในวิชาชีพอยู่เต็มเปี่ยม ซุ้มเสียงที่บอกเล่าถึงประวัติชีวิตและประสบการณ์การทำงานยังคงแจ่มใส ไม่แหบพร่าอย่างคนวัยเดียวกัน เช่นเดียวกับความทรงจำในทุกๆ ก้าวบนรอยทางชีวิตที่ยังคงแจ่มชัดในทุกบทตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความมุ่งมั่นในการแทงหยวกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ปู่ประสมกับหยวกที่ปู่ตั้งใจแทงให้ดูเป็นขวัญตา ใช้เวลาประมาณ 2 นาที ปัจจุบันปู่ไม่ค่อยมีแรง จึงแทงหยวกไม่ไหวแล้ว
  • ย้อนอดีต ชีวิตวันเก่า

    “ประสม สุสุทธิ” วัย 87 ปี เล่ารอยทางชีวิต ว่า เป็นคนจังหวัดเพชรบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านใน ต. คลองกระแชง อ.เมือง ซึ่งในสมัยนั้น เพชรบุรียังอุดมไปด้วยช่างแขนงต่างๆ โดยเฉพาะงานช่างแทงหยวก ที่แทบทุกหลังคาเรือนทำเป็น โดยสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เรียนรู้กันในครอบครัว

    “เจ้าอาวาสทุกวัดในสมัย 80 ปีที่แล้ว แทงหยวกได้หมดทุกองค์ เพราะมันเป็นภูมิปัญญา เป็นวิชาช่างเฉพาะถิ่นของคนเพชรบุรี” ปู่ประสม ให้ภาพความเฟื่องฟูของศิลปะด้านการแทงหยวก ก่อนจะเล่าต่อว่า ปู่เข้าเรียนชั้น ม.1 ที่ “โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดเพชรบุรีวัดคงคาราม” ในแผนกพณิชยการ จนกระทั่งจบ ม.8 จากนั้นก็สอบเข้าศึกษาต่อใน “ม.วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (ปัจจุบันคือ ม.ธรรมศาสตร์) ในแผนกวิชาการตรวจบัญชีชั้นสูง และเข้าทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย

    “อาชีพที่อยู่กับเงินเป็นอาชีพที่เสี่ยง ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 8 ปี ก็เปลี่ยนอาชีพ แต่สุดท้ายก็กลับบ้านที่เมืองเพชร แล้วก็เริ่มทำงานด้านช่างสกุลเพชรมานับแต่นั้น”

    ปู่ประสม เล่าต่อว่า หลังจากทิ้งป่าคอนกรีตไว้เบื้องหลัง และกลับมายังบ้านเกิดแล้ว ก็ได้ยึดอาชีพเป็นพ่อพิมพ์ของชาติ ในวิชาศิลปศึกษา ที่โรงเรียนวัดคงคาราม ที่เคยอาศัยเล่าเรียนสมัยเด็กนั่นเอง

  • ใช้ประสบการณ์งานศิลป์หาเลี้ยงครอบครัว

    ปู่ประสม สมรสกับ ย่าพนอ และมีลูกชายด้วยกันถึง 8 คน โดยลูกทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “พ่อไม่เคยบังคับให้ชอบหรือสนใจศิลปะ” หากแต่เมื่อลูกทุกคนเห็นพ่อทำงาน ก็มักจะเสนอตัวเข้าไปช่วย ซึ่งก็ได้ฝึกฝนฝึกหัดไปโดยปริยาย ทำให้ลูกๆ มีฝีไม้ลายมือด้านงานศิลป์ไทยติดตัวกันทั้ง 8 คน โดยเฉพาะศิลปะการแทงหยวกที่นอกจากจะสืบทอดต่อมายังรุ่นลูกแล้ว หลานเล็กๆ ก็ได้วิชาไปด้วยเช่นกัน

    หลังจากสอนศิลปะอยู่ 8 ปี ก็ลาออกและหันมาทำงานด้านศิลปะไทยอย่างเต็มตัวเพียงอย่างเดียว โดยทำงานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรับออกแบบศาลาทรงไทย รับวาดลายไทย รับแทงหยวก รับออกแบบปูนปั้น รับวาดสัตว์หิมพานต์ รับวาดภาพจากวรรณคดี ทั้งยังเป็นคนแรกของจังหวัดเพชรบุรี ที่รับทำป้ายโฆษณาด้วย ผลงานต่างๆ ของปู่ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ทั้งในจังหวัด ตลอดจนในหมู่ช่างศิลป์ไทยด้วยกันเป็นอย่างดี

    “วัดคงคารามฯ เกือบ 100% เป็นฝีมือของปู่ ศาลาทุกหลัง อาคารสิ่งปลูกสร้างในวัดมาจากการออกแบบของปู่ทั้งหมด และวัดในเมืองเพชรกว่า 90% นี้ สามารถพูดได้ว่า ทุกแห่งจะต้องมีงานศิลปะฝีมือของปู่อยู่ด้วยอย่างน้อย 1 ชิ้น” ปู่ กล่าวโดยที่มีแววแห่งความภาคภูมิปรากฏแฝงในน้ำเสียง
    พิษณุ สุสุทธิ สาธิตการแทงหยวก
  • กับศิลปะการแทงหยวก

    ดังที่ปู่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ได้วิชาแทงหยวกมาจากบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา เห็นมาตั้งแต่เล็ก โตมาหน่อยก็ได้ช่วยพ่อทำ ก็ได้วิชาติดตัวมา

    “คนเมืองเพชรเขายังทำกันได้ คนเมืองเพชรยังคงสืบทอดได้ต่อเนื่องเหนียวแน่น ไม่ใช่เหลือเฉพาะครอบครัวของปู่ ทุกตำบลยังคงมีมือดีๆ ประจำตำบลประจำท้องถิ่นอยู่ รุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังสนใจมาดู มาขอเรียน”

    ปู่ประสม เล่าคร่าวๆ ถึงวิธีการหัดแทงหยวกว่า ก่อนจะลงมือแทงลายลงในกาบกล้วยจริงนั้น ต้องฝึกมือให้คุ้นเคยกับลายไทยเสียก่อน ด้วยการหัดวาดลายไทยให้คุ้นเคยแม่นยำ

    “ลายที่เราแทงลงไปในหยวก ก็คือ ลายไทย ลักษณะการแทงหยวกของเราจะไม่มีการวาดลายหรือลอกลายลงไปในหยวก ทุกอย่างเป็นฟรีแฮนด์ คือแทงสด ห้ามลอกลายหรือวาดลงไป ดังนั้นการลากมือต้องแม่น พ่อก็จะฝึกให้เราวาดลายไทยลงบนกระดาษ วาดแบบห้ามลบ ต้องวาดให้ได้ถูกต้องตรงเป๊ะแบบไม่ผิดเลย พ่อเองก็ฝึกนานจนชำนาญ จึงได้เชี่ยวชาญการแทงหยวก แทงได้อ่อนช้อย งดงาม รวดเร็ว และไม่ผิดพลาด พ่อฝึกวาดลายไทยจนถึงขนาดที่วาดตัวละครจากวรรณคดีและสัตว์หิมพานต์ได้โดยใช้เวลาตัวละ 4 นาทีเท่านั้น” พิษณุ ขยายความ

    ปู่ประสม เล่าต่อไปอีกว่า กระบวนการแทงหยวก ยากทุกขั้นตอน ยากตั้งแต่เริ่มเลือกต้นกล้วยเหมาะๆ การตัด การลอกกาบ การแทง ไม่มีกระบวนการใดที่ง่าย ส่วนลายหยวกที่ยากที่สุด ไม่ใช่ลายซับซ้อนอย่างฟัน3 หรือฟัน5 แต่ว่าเป็นลายครู ลายพื้นฐานที่สุด นั่นคือลาย1 ที่มีลักษณะเป็นลายฟันปลาธรรมดาๆ นี่เอง

    “ทำต้องทำให้ตรงเป๊ะ เป็นเส้นตรงเหมือนเอาไม้บรรทัดทาบ มือต้องเที่ยง ถือเป็นลายพื้นฐานและเป็นลายที่ยากที่สุด” ปู่กล่าว

  • สู่ความเป็น “ช่างสองพระเมรุ”

    ปู่ประสม ย้อนความจำถึงครั้งแรกที่พระมหากรุณาธิคุณได้ปกเกล้าปกกระหม่อม ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปู่มีโอกาสไปถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

    “ท่านอยากได้งานหยวกไปประดับด้วย ก็ได้มีโอกาสอันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ตอนนั้นเมื่อทราบว่าจะได้ไปทำงานพระเมรุสมเด็จย่า บรรยายความรู้สึกไม่ได้ พูดไม่ออก เราเป็นคนธรรมดา ไม่นึกว่าจะได้รับโอกาสและพระมหากรุณาธิคุณมากถึงเพียงนั้น ความรู้สึกมันเตลิดเปิดเปิงไปหมด”

    ปู่ประสม เท้าความถึงคราวที่ไปทำงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า คราวนั้นใช้ต้นกล้วยไปกว่า 100 ต้น และสำนักพระราชวังไม่ได้กำหนดให้แทงเป็นลายหนึ่งลายใดโดยเฉพาะ เพราะในขณะนั้น ข้อมูลการแทงหยวกไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะมีการทำเป็นกลุ่มเฉพาะ สำนักพระราชวัง จึงได้จัดเตรียมต้นกล้วยเอาไว้ให้ และให้ทำงานได้โดยไม่มีข้อกำหนดมากนัก

    แต่ในคราวนี้ ช่างแทงหยวกผู้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้แทงหยวกในงานพระเมรุถึง 2 ครา บอกว่า เมื่อน.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น มาเยี่ยม และอัญเชิญพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพฯ ว่า ทรงโปรดอยากให้งานแทงหยวกของช่างสกุลเพชรไปประดับพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อีกนั้น ก็ยังความปลื้มปีติมาให้ปู่ ตลอดจนครอบครัวและวงศ์ตระกูลจนหาที่สุดมิได้

    “แต่คราวนี้ในวังได้หาข้อมูล โดยนำภาพพระเมรุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาให้ดูเป็นแบบ ลายที่ใช้ก็กำหนดให้ใช่เป็นฟัน 1 ฟัน 3 ฟัน 5 ลายกลีบบัว และหยวกทั้งหมดที่ใช้ก็จำนวนตามพระชนมายุ คือ 84 ต้น”

    แต่ช่างแทงหยวกสองพระเมรุผู้เปี่ยมด้วยประสบการณ์กล่าวต่อไปในทันที ว่า สิ่งที่กำลังจะไปทำถวายในวันที่ 12 พ.ย.นี้ จะไม่ใช่ผลงานของปู่คนเดียว แต่ปู่จะขอมอบเป็นผลงานของคนเมืองเพชรกว่า 400,000 ชีวิต เพื่อให้งานแทงหยวกของปู่ที่จะทำถวายในงานพระเมรุแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีของชาวจังหวัดเพชรบุรีทุกคน ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตลอดจนพระบรมวงศ์ทุกพระองค์
    หยวกที่ผ่านการแทงเป็นลวดลายต่างๆ มาประดับบนจิตกาธาน
  • จากไร่กล้วยสู่พระจิตกาธาน

    ปู่ประสม ได้ให้รายละเอียดถึงการเตรียมงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่า กล้วยที่จะนำมาใช้นั้น ต้องใช้กล้วยตานี โดยเลือกเฉพาะกล้วยที่ตั้งท้อง แต่ยังไม่ทันออกเป็นเครือ จะเป็นช่วงที่กล้วยสมบูรณ์ที่สุด กาบจะเหนียว ไม่เปราะแตกหักง่าย อีกทั้งจะสดอยู่ได้นาน ที่ต้องเป็นกล้วยตานี ก็เพราะเป็นกล้วยที่มีช่องน้ำเลี้ยง หรือที่เรียกว่า “รังผึ้ง” ในลำต้นมาก ทำให้ชุ่มน้ำ เก็บน้ำได้มาก มีความเหนียวของเนื้อหยวก ไม่หักเมื่อโค้งดัด ไม่มีเส้นใยเกะกะ มีสีสวยนวลกว่ากล้วยชนิดอื่น

    ตามปกติในการเลือกกล้วยมาแทงหยวก ขอให้เป็นกล้วยตานีก็ใช้ได้ แต่สำหรับงานพระเมรุในครั้งนี้ ปู่ประสมกับลูกๆ ต้องเลือกเฟ้นกล้วยตานีที่พิเศษที่สุด คือ ต้องเป็นกล้วยตานีที่ปลูกในที่ลุ่ม ชุ่มน้ำ เนื้อหยวกไม่แข็งจนเป็นอุปสรรคต่อการแทง เพราะหยวกที่นุ่มจะทำให้การแทงเป็นลวดลายอ่อนช้อยทำได้ง่ายกว่า ซึ่งก็ไปพบกล้วยที่ตรงตามต้องการที่ไร่แถวท่ายาง-หนองกระเจ็ด เป็นไร่ที่อยู่ระหว่างทางบ้านลาด-ท่ายาง

    “แต่ไม่ใช่ว่าได้ทุกต้นนะ ใน 1 กอ 4-5 ต้น เราจะเอามาใช้ได้ต้นเดียว คือ ต้นที่อยู่ตรงกลาง เพราะจะเป็นต้นที่ตรงที่สุด และต้องเลือกที่มีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันด้วย สำหรับงานนี้เราจะแทงทั้งหมด 84 ต้น แต่ตอนเราเอากล้วยไป เราคงจะเอาไปเผื่อบ้างเล็กน้อย”

    ปู่ เล่าต่อว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 พ.ย.จะออกเดินทางจากเพชรบุรีตั้งแต่เช้ามืด นำหยวกทั้งหมดเข้ากรุงเทพฯ ไปไว้ที่สโมสรข้าราชบริพาร ท่าเตียน งานแทงหยวกจะเริ่มในค่ำคืนวันที่ 12 พ.ย.โดยจะเริ่มด้วยการทำพิธีบูชาครู อัญเชิญครูมาประสิทธิ์ประสาทวิชา และจะแทงหยวกไปจนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 13 พ.ย.โดยใช้ช่างแทงหยวกทั้งชายและหญิงทั้งหมดราวๆ 30 ชีวิต และเมื่อแทงเสร็จแล้ว ในวันที่ 14 พ.ย.จะนำ ไปประดับพระจิตกาธาน โดยในทุกๆ ขั้นตอน จะมีการบวงสรวงขอพระบรมราชานุญาตและบวงสรวงบูชาครูแบบเต็มพิธีการ

    หากแต่ในงานนี้ปู่ไม่ได้ลงมือ เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย แต่จะร่วมคณะไปด้วยในฐานะประธานผู้ควบคุมงานการแทงหยวก
    หยวกลายต่างๆ จากหลังมาหน้า คือลายฟัน1 – ลายฟัน3 – ลายฟัน5 ตามลำดับ
  • “ตายตาหลับ” เพราะมีองค์อุปถัมถ์ศิลป์ไทยแล้ว

    ปู่ประสม ในวันนี้ อิดโรยอ่อนเพลีย โรคและอาการป่วยรุมเร้า ทั้งต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะบ่อยทุกๆ 5-10 นาที เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อหลังอักเสบ เนื่องจากการยกป้ายเกินกำลัง ซ้ำยังได้รับยาแรงจากแพทย์ผู้รักษา ทำให้ร่างกายรับไม่ไหว ถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ต้องเดินทางมารักษาในกรุงเทพฯ ทำให้ร่างกายตรากตรำจากการเดินทาง ทั้งยังพบว่ามีอาการอักเสบที่ขั้วปอด จากการทำงานกับสเปรย์สีมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ซ้ำเบื่ออาหาร ต้องฉีดยาบำรุง ก็พอจะกินข้าวได้แค่ครั้งละสามช้อน ทุกวันนี้ได้ซุปไก่สกัด และนมสดพอบำรุงกำลังได้ทีละครึ่งถ้วย ในการเข้ากรุงเทพฯ มาแทงหยวกถวายครั้งนี้ ปู่ก็ต้องเอาหลานที่เป็นพยาบาลติดขบวนมาด้วย

    “ปู่ไม่ห่วงหรอก สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเป็นองค์อุปถัมป์งานศิลป์ไทย ท่านสนพระทัยใส่พระทัย ทรงมีพระปรีชามากเหลือเกิน ปู่เคยถวายคำแนะนำเรื่องแทงหยวกครั้งเดียว ท่านทรงแทงได้ทันที ทรงเก่งมาก ท่านทรงมีรับสั่งให้มีการสืบสานงานศิลป์ไทย ปู่ดีใจ ขอทำงานพระเมรุถวายพระพี่นางฯ อย่างที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงมีรับสั่งในครั้งนี้ก่อน ถึงปู่จะตาย ปู่ก็ตายตาหลับแล้ว”

  •  นี่คือคำทิ้งท้ายจากชายชราผู้เปี่ยมไปด้วยความรักและบูชาต่อสถาบันอันเป็นที่รัก และใช้ทั้งชีวิตเพื่อสืบสานงานศิลปะไทย

    กำลังโหลดความคิดเห็น