แพทย์เตือนผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นกรด อาจเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เผยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคเรื้อรัง ทั้งภาวะไตวาย โรคไตผิดปกติ พบมากในประชากรแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการรับประทานยาขับปัสสาวะ และภาวะท้องร่วงเรื้อรัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ดร.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัลเหรียญทอง “นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น” ประจำปี 2551 จากการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหา “ภาวะเลือดเป็นกรด” มักพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไปทางการแพทย์ และมีผลเสียกับร่างกายของผู้ป่วยหลายประการ
แต่ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ ภาวะเลือดเป็นกรดแบบเมตาบอลิกเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดร่วมกับการสลายแคลเซียมจำนวนมากจากกระดูก และการสูญเสียแคลเซียมทางไต ซึ่งโดยทั่วไปมักแก้ปัญหาด้วยวิธีให้รับประทานแคลเซียมทดแทน วิธีนี้แม้ว่าจะตรงไปตรงมา แต่ก็อาจยังไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากแคลเซียมเป็นธาตุที่ร่างกายดูดซึมได้น้อยเพียงร้อยละ 20-30 ของปริมาณที่รับประทานเข้าไป จึงจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกลงถึงกลไกในระดับเซลล์ และระดับโมเลกุล เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้นักวิจัยกลุ่มอื่นๆ นำไปทำวิจัยต่อยอดให้ได้รูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่เหมาะสมกับการดูดซึมด้วยกลไกนั้นๆ และทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่เกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะไตวาย โรคไตผิดปกติในการขับกรดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม พบมากในประชากรแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการรับประทานยาขับปัสสาวะ และภาวะท้องร่วงเรื้อรัง
เมื่อผู้ป่วยมีภาวะเลือดเป็นกรด คือ มีปริมาณกรดอยู่ในเลือดเพิ่มขึ้น หรือปริมาณสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างในเลือดลดลง จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงอย่างช้าๆ และรบกวนการทำงานของร่างกายอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่ระบบที่เกี่ยวกับสมดุลแคลเซียมและการทำงานของกระดูก ส่งผลให้แคลเซียมในกระดูกสลายตัวออกมา ถ้าคนไข้สูญเสียมวลกระดูกมากๆ จะทำให้สมดุลแคลเซียมติดลบ กระดูกบางลง และเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด
สำหรับอาการของคนไข้ที่สูญเสียแคลเซียมในกระดูก คือ กระดูกอ่อนแอ และอาจหักได้ง่าย หากเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมที่พบตั้งแต่เด็กจะทำให้เจริญเติบโตช้า ตัวเล็ก กระดูกผิดปกติ เป็นนิ่วในไต และอาจมีระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ผศ.นพ.ดร.นรัตถพล และคณะ ซึ่งได้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ เรื่อง “ผลของภาวะเลือดเป็นกรดแบบเมตาบอลิกต่อการดูดซึมแคลเซียมในเยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้นของหนูขาวเพศเมีย” จากฝ่ายวิชาการ สกว. ตั้งสมมติฐานว่าร่างกายน่าจะพยายามบรรเทาภาวะสมดุลแคลเซียมติดลบที่เกิดขึ้นจากภาวะเลือดเป็นกรดด้วยการเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะได้แคลเซียมปริมาณมากจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย
จากการวิจัยในหนูทดลอง พบว่า ภาวะเลือดเป็นกรดแบบเมตาบอลิกเรื้อรังนาน 21 วัน สามารถกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมทั้งแบบผ่านตัวเซลล์ของลำไส้ และแบบผ่านช่องระหว่างเซลล์ โดยมีอัตราการดูดซึมรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 เท่า อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดจากปริมาณกรดที่เพิ่มขึ้นในเลือด เพราะเมื่อให้เนื้อเยื่อลำไส้สัมผัสกับกรดโดยตรง ซึ่งเป็นการเลียนแบบภาวะเลือดเป็นกรดเฉียบพลัน กลับพบการเปลี่ยนแปลงที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ภาวะเลือดเป็นกรดเฉียบพลันลดอัตราการขนส่งแคลเซียม ดังนั้นจึงมีการตั้งสมมติฐานต่อไปว่า ภาวะเลือดเป็นกรดเรื้อรังอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุลำไส้ในระดับโมเลกุลอย่างถาวร เพื่อให้สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น
จากการศึกษาในระดับโมเลกุลสามารถยืนยันว่า สารพันธุกรรมของโปรตีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมแคลเซียมมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ค้นพบการแสดงออกของยีนในกลุ่มคลอดิน (claudins)จำนวนมากที่เพิ่มขึ้นในระหว่างเกิดภาวะเลือดเป็นกรดเรื้อรัง ยีนในกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 23 ชนิด และมีความสำคัญต่อการขนส่งสารผ่านช่องระหว่างเซลล์ ซึ่งรวมถึงแคลเซียมด้วย โดยเป็นยีนที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม และเป็นไปได้ว่ายีนกลุ่มนี้อาจเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับการผลิตยาเสริมแคลเซียมหรือเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้พัฒนาเทคนิควิจัยใหม่ขึ้นในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษากลไกการขนส่งแคลเซียมผ่านช่องระหว่างเซลล์ ปัจจุบันได้นำเทคนิคที่ได้นี้ไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราการขนส่งแคลเซียมภายใต้โจทย์วิจัยอื่น เช่น ในระหว่างเกิดภาวะฮอร์โมนโพรแลคตินในเลือดสูง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกบางในหญิงตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ รวมทั้งในระหว่างให้วิตามินดีเสริม เป็นต้น