xs
xsm
sm
md
lg

หาบเร่เฮ! กทม.ช่วยเศรษฐกิจทรุด ให้ขายได้ทุกวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.เผยมาตรการเกื้อกูลในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เปิดโอกาสหาบแร่ขายได้ทุกวัน แต่หยุดจัดระเบียบเดือนละ 2 วัน ส่งเสริมย่านการค้าดังให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ จัดตลาดนัดสินค้าเฉพาะอย่างนำร่องตลาดอาหาร Home Made ที่ลานคนเมืองทุกศุกร์ ดันสร้างผลิตภัณฑ์ “Made in Bangkok” และเปิดตลาด Hand Made ให้วัยโจ๋ซื้อขายที่หอศิลป์ พร้อมกำหนดปี 2552 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจใน 5 มาตรการเกื้อกูล ซึ่งมาตรการเกื้อกูลดังกล่าวครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ค้าขาย ผู้ประกอบการ จนถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวม
 
โดยมาตรการแรก เปิดโอกาสให้หาบเร่แผงลอยสามารถค้าขายได้ตลอดสัปดาห์ แต่กำหนดจัดระเบียบเดือนละ 2 วัน แต่ใน 1 เดือนจะต้องจัดให้มีวันหยุดที่ตรงกันแต่ละย่านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 2 วัน เพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงทางเท้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจัดตั้งคณะกรรมการย่านการค้าหาบเร่แผงลอยประจำพื้นที่ ณ จุดขายต่างๆ ขึ้นร่วมกับสำนักงานเขตนั้นๆ เพื่อกำหนดรูปแบบการค้า กำหนดวันจัดระเบียบและพัฒนาร่วมกัน
 
ทั้งนี้จะอนุญาตให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบนทางสาธารณะทำการค้าขายได้เฉพาะจุดที่ได้รับการผ่อนผันตามระเบียบกทม.เท่านั้น
 
 ขณะเดียวกัน กทม.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้มีผู้ค้าขายนอกจุดผ่อนผัน รวมถึงการรักษาความสะอาดพื้นที่ในแผงขายนั้น และต้องทำความสะอาดทุกวันหลังขายเสร็จ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อครบกำหนดก็จะประเมินผลถึงข้อดี ข้อเสียซึ่งหากประชาชนได้รับประโยชน์ ไม่กระทบกับคนใช้ทางเท้า และผู้ค้าอยู่ได้ร่วมกัน ก็จะให้ขายต่อแต่หากไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าวตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

สำหรับมาตรการที่ 2 กทม.จะจัดตลาดนัดสินค้าเฉพาะ เช่น ตลาดนัดอาหาร ก็จะเป็นการนำอาหารต่างๆ จากทุกแหล่งมารวมกันขาย หรือตลาดนัดสินค้าเกษตร ก็จะเป็นการนำผัก ผลไม้ มารวมกันขาย โดยกทม.นำร่องจัดตลาดนัดอาหารทุกวันศุกร์ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.เริ่ม ศุกร์ที่ 31 ต.ค.2551 ภายใต้แนวคิด “Home Made เสน่ห์อาหารการกิน” ให้ประชาชนหรือข้าราชการกทม.ที่มีฝีมือการทำอาหารนำมาจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.สำหรับผู้สนใจทำอาหารสามารถไปเรียนรู้ได้
 
นอกจากนั้นยังประสานไปยังสถาบันการเงิน เช่น ธ.ออมสิน เพื่อเข้ามาให้คำปรึกษาการลงทุนหากสนใจประกอบการด้านอาหารด้วย ส่วนตลาดที่มีอยู่แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งตลาดของ กทม.9 แห่ง ตลาดเอกชนกว่า 80 แห่ง รวมถึงตลาดเร่ ตลาดนัดต่างๆ ก็จะได้ส่งเสริมให้มีสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น เช่นสินค้าเกษตรของเกษตรกรเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือสินค้าที่ผู้ผลิตที่ กทม.ส่งเสริมอยู่ โดยอาจจัดอาทิตย์ละ 1 วัน แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละตลาด

มาตรการที่ 3 สร้างผลิตภัณฑ์ “Made in Bangkok” ดึงโรงเรียนส่งเสริมอาชีพ กทม.เข้ามาเผยแพร่ สอนงานอาชีพภูมิปัญญาต่างๆ และประยุกต์ใช้ให้เป็นที่แพร่หลาย กลายเป็นสินค้าที่หลากหลาย เสริมรายได้แก่ผู้ต้องการ และจะสนับสนุนการคิดค้นสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนทุกระดับชั้น และนำเข้าเป็นสินค้า Made in Bangkok
 
ซึ่ง กทม.จะส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนการค้าของสินค้าที่คิดค้นขึ้น โดยเบื้องต้นจะเปิดตลาดนัดคนเดินให้กับวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์งาน และทำเป็นสินค้ามือทำ Hand Made มาจำหน่ายที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน ทุกคืนวันเสาร์ เริ่มเสาร์ ที่ 1 พ.ย.2551 เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป

มาตรการที่ 4 โดยกทม.กำหนดให้ปี 2552 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยจะดึงเสน่ห์กรุงเทพฯ ที่ได้เคยประกาศไว้นำมาจัดเป็นปฏิทินการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวกรุงเทพฯ ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยเที่ยวกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งกทม.มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายให้มาสัมผัส มีวัฒนธรรม ประเพณี เทศกาลต่างๆ ตลาดทั้งปี จึงน่าจะสามารถนำมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว ดึงเงินตราเข้ามาช่วยระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยกทม.จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 5 กทม.จะดำเนินการส่งเสริมย่านการค้าดังให้เป็นที่รู้จัก มีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะ ดึงนักช้อปและนักท่องเที่ยวจับจ่าย เพิ่มรายได้ผู้ค้า เช่น ย่านการค้าเยาวราช จะเป็นเอกลักษณ์ด้านการจับจ่ายสินค้าของพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีน ย่านประตูน้ำ โบ๊เบ้ บางลำพู เป็นเอกลักษณ์การซื้อขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ย่านวงเวียนใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ด้านอาหารอร่อยสูตรดั้งเดิม หรือย่านปากคลองตลาด จะเป็นตลาดดอกไม้ ย่านถนนชายทะเลบางขุนเทียน จะเป็นย่านร้านอาหารทะเลหรือตลาดอาหารทะเล ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าวัยรุ่น เป็นต้น
 
โดย กทม.จะเข้าไปพัฒนา ปรับปรุงให้เหมาะแก่การเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นพิเศษให้มีเอกลักษณ์และเสน่ห์มากขึ้น ทั้งการปรับปรุงพื้นผิวทางเท้า ตู้โทรศัพท์ ป้ายบอกทาง ป้ายบอกขอบเขตย่าน การเปลี่ยนร่มผู้ค้าให้เป็นสีเดียวกัน มีรูปแบบเข้ากับเอกลักษณ์ย่านนั้นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น