เครือข่ายภาคประชาชน เรียกร้อง “อภิรักษ์” สนับสนุนชุมชนทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ แก้ปัญหาคนจรจัด ที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง พร้อมจัดทำผังเมืองเฉพาะด้าน แถมแนะผู้บริหารทำงานอาสาสมัครในพื้นที่ได้ประโยชน์มากกว่านั่งทำงานประจำ
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคพลเมือง เพื่อพัฒนาให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายสภาชุมชน 16 เขต เครือข่ายสวัสดิการ เครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายจิตอาสา เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายรักษ์ทะเลฯ กว่า 150 คน ร่วมระดมความเห็น ซึ่งมีคณะผู้บริหาร กทม.อาทิ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. นายวัลลภ สุวรรณดี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.รับฟัง
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการทำงานต่อคณะผู้บริหาร กทม. โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้ กทม.เข้ามาช่วยสนับสนุนกลไกนอกโครงสร้างของ กทม.หรือการรวมตัวทำกิจกรรมของชาวชุมชน เช่น การทำโครงการขยะรีไซเคิล การทำถังดักไขมันเพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลอง ให้ กทม.เน้นศึกษาและอนุรักษ์เมืองเก่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน จัดโรงเรียนช่างฝีมือใน กทม.การจัดทำผังเมืองจำเพาะ แบ่งเป็นการจำกัดความสูงของอาคาร จำกัดจำนวนรถ และจำนวนนักท่องเที่ยว ที่สำคัญ กทม.ควรแก้ปัญหาคนจรจัดอย่างจริงจัง ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา กทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ให้ กทม.สนับสนุน และเอื้ออำนวยการทำงานขององค์กร หน่วยงาน เครือข่ายในพื้นที่เพื่อสร้างสำนึกการอยู่ร่วมกันของ กทม.เช่น ให้คณะผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่ทำงานอาสาสมัคร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน เนื่องจากเห็นว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการทำงานประจำเพียงอย่างเดียวและได้รับทราบถึงปัญหาในพื้นที่ด้วย รวมทั้งผลักดันการปฏิรูประบบราชการ กทม.อย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมนั้น ตนได้วางแนวทางเป็น 3 เครือข่าย คือ 1.เครือข่ายย่าน เครือข่ายเขต โดยเป็นการทำงานที่ผ่านกลไกระดับรัฐน้อยที่สุด 2.เครือข่ายระดับกลุ่ม เช่น เยาวชน ผู้พิการ สตรี และ 3.ตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมของกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันทำแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับแผนนโยบาย 4 ปี ของกทม. หรือ แผนระยะยาว 12 ปี
นายอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า กลุ่มเครือข่ายพลเมืองภาคประชาชนได้เสนอแนวทางการทำงาน 11 ยุทธศาสตร์ ซึ่งหลังจากนี้ กทม.จะนำข้อเสนอทั้งหมด ไปศึกษาว่ามีความสอดคล้องกับแผนพัฒนา กทม.ระยะ 4 ปี หรือนโยบายการทำงาน 5 ด้านหรือไม่ เมื่อตกผลึกเรียบร้อยแล้วจะมีการเชิญตัวแทนเครือข่ายมาร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งน่าจะเห็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการทำงานเพื่อพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ในระยะยาว กทม.จะเดินหน้าผลักดันไปพร้อมกับการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ภายในสัปดาห์หน้าตนจะเดินทางไปในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริง หลังจากที่ กทม.ได้ยกเลิกโครงการจัดทำไส้กรอกทราย (ทีกรอยด์) และขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเสนอรูปแบบใหม่ขึ้นมา