xs
xsm
sm
md
lg

ให้ความรู้คู่โอกาส=ให้สุขผู้พิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ความสุขของคนพิการคือการมีงานทำ ไม่ใช่มานั่งรอคนดังเป่าเค้ก และกินอาหารดีๆ ในวันเกิดคนนั้น คนนี้”

ประโยคบอกเล่าสั้นๆ จากใจชายสูงวัยใกล้เกษียณคนหนึ่งที่เคยได้รับโอกาสทางสังคมในการแสดงความสามารถและแสดงออกซึ่งสติปัญญาที่มี โดยก้าวข้ามผ่านคำว่า “พิการ” จนกลายเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไปมาแล้ว อย่าง อ.ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เลขาธิการมูลนิธิคนพิการแห่งประเทศไทย
ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เลขาธิการมูลนิธิคนพิการแห่งประเทศไทย
“ผมบอกลูกศิษย์และน้องๆ เสมอว่าเราต้องทำตัวให้สังคมยอมรับด้วยไม่ใช่แต่ตัดพ้อว่าเขาไม่ยอมรับ หากทำตัวเป็นภาระรอแต่ความช่วยเหลือเราก็จะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คนอื่นมองว่าคนพิการจะต้องขอทานกินเท่านั้น ดังนั้นการศึกษา และความรู้จะช่วยเปิดพื้นที่ให้เรามีที่ยืนได้ แต่ขณะเดียวกันคนพิการที่พอจะมีศักยภาพอยู่บ้างก็อยากได้รับการเหลียวแลจากรัฐบ้างการขอโอกาสเข้าทำงาน” อ.ณรงค์เอ่ยในช่วงต้นเพื่อที่จะเชื่อมกับเรื่องราวของมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ อันเป็นโรงเรียนที่ผลิตให้ผู้พิการมีศักยภาพด้านการทำงานคอมพิวเตอร์ได้ทัดเทียมกับคนทั่วไป

อ.ณรงค์ บอกว่า แม้ในปัจจุบันจะมีพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต พ.ศ.2551 ที่กำลังจะคลอดออกมาระบุให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนรับคนพิการเข้าทำงานได้ 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดก็ตาม แต่แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลนั้นเป็นการตีกรอบเพื่อปฏิเสธมิให้คนพิการเข้าทำงานแทบทั้งสิ้น

“มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลคนพิการหลายแห่งที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการก็เช่นกัน แม้ว่าจะสอนหนังสือคนพิการเพื่อให้เขามีงานทำ แต่สุดท้ายรัฐก็มองแค่ว่าคนเหล่านั้นจบปริญญาหรือไม่ แทนที่จะมองดูผลผลิตของการศึกษา และวัดฝีมือว่าทำงานได้หรือไม่ กลับดูแค่ว่าคนพิการคนนี้มีวุฒิอะไร ทั้งที่บางคนทำงานได้ดีกว่าปริญญาบางคนเสียอีก ทำให้ผู้พิการบางคนขาดโอกาสเข้าทำงานในหน่วยราชการ แต่ยังมีองค์กรเอกชนบางแห่งที่แลเห็นความสามารถ คนเหล่านี้จึงพอมีที่ยืนบ้าง” อ.ณรงค์ สรุปความ
ครูอาร์ต-เอกลักษณ์ ชูพลสัตย์
เอกลักษณ์ ชูพลสัตย์ นักเรียนรุ่นแรกๆ ที่จบในปี 2540 ของมูลนิธิ วันนี้เขาถูกเรียกว่า ครูอาร์ต ของนักเรียนในมูลนิธิ เล่าว่า มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่อยากเห็นคนพิการมีรายได้ มีอาชีพ โดยมองว่าอาชีพที่ดูจะเหมาะกับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวมากที่สุดน่าจะเป็นงานด้านคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มตั้งไข่ในปี 2538 ที่ศูนย์ฟื้นฟูสิรินธร ในกระทรวงสาธารณสุขก่อนจะย้ายไปปักหลักที่ปากเกร็ด จากการเปิดสอนเพียงคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน 5 ปีถัดมาพัฒนาต่อยอดความรู้โดยเพิ่มหลักสูตรการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ และวันนี้ลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าบ้างกลายมาเป็นครูของที่นี่ และบ้างกลายเป็นกำลังหลักของครอบครัว

ครูอาร์ต บอกว่า อาคารชั้นเดียวหลังเล็กๆ นี้เปิดรองรับผู้พิการมารุ่นแล้วรุ่นเล่า บางคนพิการมาตั้งแต่กำเนิด บางคนเป็นเหยื่อเมาแล้วขับมีคละกันตั้งแต่ 18- 35 ปี เพราะหากยังเล็กกว่านี้ก็คงจะดูแลกันลำบาก บางคนอายุเกินแต่ตั้งใจจริงก็ให้โอกาส เพราะถือประโยชน์ที่เขาจะได้รับมากกว่ากฎเกณฑ์ ที่ต้องคัดเลือกเนื่องจากว่าต้องการคนที่ตั้งใจและมีโอกาสพัฒนาตัวเองจริงๆ ประกอบกับการไม่เสียค่าใช้จ่าย และพื้นที่คับแคบ ครูมีจำนวนน้อย ทำให้หนึ่งรุ่นรับได้ไม่เกิน 50 คน ซึ่งหนึ่งปีรับได้เพียง 100 คนเท่านั้น

คำว่าโอกาสที่ว่าในความหมายของมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการนั้นคือ การร่วมฟื้นฟูร่างกายควบคู่ไปกับสภาพจิตใจ ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่อยู่ในมูลนิธินอกจากความรู้ที่พวกเขาจะได้แล้ว พวกเขายังจะได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ยอมรับและปรับตัวเองเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมปกติได้อีกด้วย
บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องคอมพิวเตอร์ของมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ
สุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) บอกว่า ความรู้โดยพื้นฐานของนักเรียนในมูลนิธิในโปรแกรมต่างๆ อยู่ในขั้นดี แต่อย่างไรก็ตามทุกคนก็ยังต้องการการพัฒนาศักยภาพเพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการทำงานให้มากขึ้น ไมโครซอฟท์จึงเข้ามาให้ความรู้ด้านการเขียนเว็บไซต์ด้วยตนเองเพิ่มเติม ทั้งนี้ เชื่อว่า การยกระดับความรู้จะช่วยต่อยอดให้การเรียนการสอนในมูลนิธิแตกแขนงออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านผู้ได้รับโอกาสอย่าง เอก เชื้อเพชร หนุ่มขาลีบเล็กจากโรคโปลิโอ วัย 24 ปี ซึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเขาจะเข้าทำงานในตำแหน่งเว็บมาสเตอร์ให้แก่บริษัทจัดทำ พ.ร.บ.รถยนต์แห่งหนึ่ง บอกว่าหลังจากเรียนรู้ในมูลนิธิได้ 1 ปีเต็ม จากคนที่ไม่เคยรับรู้ว่าประโยชน์จากการให้ผู้อื่นเป็นอย่างไร วันๆ นอนดูโทรทัศน์ เล่นเกมอยู่บ้าน วันหนึ่งที่เขาออกมาและใช้ชีวิตกินนอน เรียนหนังสือกับเพื่อนผู้พิการทำให้เขาได้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่ง ด้านนั้นที่เรียกว่า “คุณค่า”
วัลลภ ชัยชนะ
“ผมเคยไปสมัครเรียนอิเล็กทรอนิกส์แต่เขาไม่รับ เลยไม่คิดเรียนอีกแต่มีคนแนะนำให้มาที่มูลนิธิ เขาให้โอกาส อยู่ที่นี่มา 1 ปีเราเหมือนได้ชีวิตใหม่ ได้ทำงาน เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองและเห็นใจคนอื่นที่อาการหนักกว่าเรา บริษัทที่จะไปทำงานด้วยเขาก็ให้ทำงานที่บ้านต่อไปคงช่วยเหลือครอบครัวได้มากขึ้น” เอก บอก

อีกคนหนึ่งเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์เมาแล้วขับ หัวหน้าครอบครัวที่เคยแข็งแรงต้องกลายเป็นผู้ชายเดินไม่ได้ วัลลภ ชัยชนะ ไม่สามารถมองการเติบโตของลูกสาวโดยที่เขาไม่สามารถเดินเหินไปไหนได้ โชคดีอยู่บ้างที่เขาเป็นคนมองโลกอย่างเข้าใจ สภาพร่างกายจึงไม่เป็นปัญหามากนัก แต่คนที่เคยทำงานทุกวันหรือจะอยู่เฉยได้ เขาตัดสินใจขอเข้ามาพัฒนาตนเองกับมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการทั้งที่ไม่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์มาก่อนเพียงหวังว่า 1 ปีที่จะกลับออกไปจะมีวิชาติดตัวเพื่อต่อยอดทำงานได้บ้าง

“แม้ว่าอุบัติเหตุจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่าได้เปลี่ยนความคิดตามไปด้วย ความสามารถในตัวบุคคลอาจจะแสดงออกได้ไม่เต็มร้อยเมื่อขาไม่สามารถยืนหรือเดินได้ หากเมื่อสมองยังทำงานตราบนั้นชีวิตก็ยังอิสระและมีโอกาสเสมอ จงใช้วีลแชร์เลื่อนเข้าไปหาโอกาสและเป้าหมายในชีวิต แม้ว่าจะเหนื่อยกว่าคนทั่วไป 2 เท่าก็ต้องทำ”วัลลภ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น