xs
xsm
sm
md
lg

สสอน.บ่นเด็กอัจฉริยะสูญหาย เหตุพ่อแม่-ครู-สังคม รู้เท่าไม่ถึงการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.สสอน. บ่นเสียดาย เด็กสูญเสียความเป็นอัจฉริยะ เพราะความไม่รู้ของ พ่อแม่ ครู และสังคม ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ทาง สสอน.ผลักดันให้เข้าอบรมกับผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเอ่ยชวนงาน “สร้างสรรค์สมองสู่เศรษฐกิจสังคมที่สร้างสรรค์” 16-17 ตุลานี้ ที่ไบเทค

วันนี้ (2 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) อาคารคิวเฮาส์ สาธร ได้มีการจัดสัมภาษณ์พิเศษเสวนาวิชาการ ประจำปี 2551 ขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “สร้างสรรค์สมองสู่เศรษฐกิจสังคมที่สร้างสรรค์” โดย ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ผอ.สสอน. กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดสถาบันเมื่อ 1 ต.ค. 50 ที่ สสอน.ได้เปิดตัวกับสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่สื่อบางแขนงไม่รู้จัก แต่งานของ สสอน.ไม่ใช่งานใหม่ เพราะมีแนวคิดการส่งเสริมในแนวทางนี้มานานแล้ว

“แม้ไม่มีตัวเลขแน่ชัดแต่หลายประเทศเชื่อว่า 3-5 % ของประชากรในประเทศ มีความเป็นอัจฉริยะ อยู่ในตัว แต่ที่ผ่านมา ในประเทศไทย เด็กเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็สูญเสียพรสรรค์ดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย โดยปัจจัยจากบุคคลที่รักเด็กมากแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือจากพ่อแม่ ครู และสังคม พ่อแม่และครูอาจไม่รู้ว่าเด็กมีความเป็นอัจฉริยะ ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ส่วนสังคมอาจกดดันและมีความคาดหวังในตัวเด็ก หรือมองว่าเด็กเป็นคนแปลก ทำให้เด็กไม่ชอบกลายเป็นปิดช่องทางอัจฉริยะ กลายเป็นเด็กธรรมดาอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ สสอน. ต้องเข้าไปพัฒนา”

ดร.อรพินท์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสอน.ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ถือเป็นพันธมิตรหลักที่ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้น ทำให้มีช่องทางในการพัฒนาเด็ก นอกจากจะมีศุนย์ GTX เพื่อวัดแววเด็กแล้วยังมีโรงเรียนต้นแบบ 12 แห่ง และศูนย์ BBL (BRIN BASTD LEARNING )

ต่อข้อซักถามถึงจำนวนเด็กอัจฉริยะในเมืองไทย ดร. อรพินท์ตอบว่า มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 9-10 ปี แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อและบอกไม่ได้ว่าเด็กเหล่านี้เรียนอยู่ที่ไหน เพราะนักวิชาการลงความเห็นว่า เรื่องการแปะป้ายเด็กเป็นเด็กพิเศษ หรืออัจฉริยะ ค่อนข้างอ่อนไหว ส่งผลเสียมากกว่า ผลดี เพราะจะเป็นการทำให้เด็กแปลกแยก ขณะนี้ในประเทศอังกฤษ ได้ยกเลิกโรงเรียนเด็กอัจฉริยะไปแล้ว แต่มีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กอยู่ในโรงเรียนของตัวเองต่อไป ไม่อยากพรากเด็กออกจากสังคมปกติ

“1 หมื่นคนที่มีแววอัจฉริยะ สสอน.ได้ส่งเสริมโอกาส ด้วยการนำไปอบรมกับผู้ที่เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านภาษาและวรรณกรรม ให้ไปอบรมกับศิลปินแห่งชาติ อย่าง อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และการเด็กไปฝึกอบรม ที่ศูนย์ศิลปะทักษะ เกาะยอ เป็นเวลา 10 วันเมื่อเมษายนที่ผ่านมา”

ด้าน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผอ.สำนักวิชาการ สพฐ. อธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงโรงเรียนนำร่องว่า 12 โรงต้นแบบ เป็นบริบทการกระจายตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งโรงเรียนในเมือง โรงเรียนเอกชน ค่าเรียนแพง โรงเรียนชานเมือง โรงเรียนต่างจังหวัด และโรงเรียนชายขอบ ที่นักเรียนมาจากชนเผ่าต่างๆ ซึ่งได้เข้าไปจัดหลักสูตรใหม่ นอกสูตรการสอน อบรมและปรับทัศนคติครูให้มีความคิดเชิงบวก ปรับวิธีการสอนให้จูงใจเด็กมากขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าเด็กทั้งหมดมีพัฒนาการเรียนสูงมาก

นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดศูนย์ เด็กปฐมวัยต้นแบบ ในโรงเรียน 943 แห่ง ทุก อำเภอทั่วประเทศ เป็นการปรับมุมส่งเสริมพัฒนาสมองให้แต่ละโรงเรียน โดยโรงเรียนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

ดร.อรพินท์ กล่าวเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ ผู้ปกครอง ประชาชน และเยาวชนทุกคน ร่วมงาน “สร้างสรรค์สมองสู่เศรษฐกิจสังคมที่สร้างสรรค์” ระหว่าง 16-17 ต.ค. ไบเทค บางนา โดยวันดังกล่าวจะมีวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ในแวดวงอัจฉริยะ นอกจากนี้ภายในงานจะมีการแสดงผลงานของเด็กอัจฉริยะน่าทึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น