xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกอีคิวเด็กแต่เล็ก รับมือปัญหาทางอารมณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้โดยทั่วไป กับเด็กอายุน้อยๆ แต่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จนดูไม่น่ารักในสายตาของผู้ใหญ่หลายคน และเมื่อผู้ใหญ่พบพฤติกรรมเช่นนี้ บ้างก็โทษว่าเป็นเพราะสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต หรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบ คือ ตัวการที่ทำให้ความน่ารักของเด็กเลือนหายไป แต่ในมุมมองของนักวิจัย แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่คือผู้ที่สำคัญที่สุดที่มีส่วนสนับสนุนให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้นหรือแย่ลง รวมทั้งมีส่วนอย่างมากในการแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กกลับมาเป็นเด็กที่น่ารัก เติบโตอย่างสมวัย

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยถึงวิธีการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ของเด็กในวัยที่แตกต่างกันว่า พ่อแม่ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ พร้อมแนะว่าเด็กแต่ละวัยจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน

“พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งการที่เขาจะมีพัฒนาการไปในทิศทางนั้นได้ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อน ซึ่งธรรมชาติของเด็กมีสองอย่างก็คือ ธรรมชาติตามวัย เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น เขาก็ยังมีธรรมชาติ หรือลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันในแต่ละคนด้วย”

สำหรับกรณีที่ธรรมชาติของเด็กและพ่อแม่แตกต่างกัน เช่น เด็กมีลักษณะนิ่งมาก แต่พ่อแม่เป็นคนรวดเร็ว ปรู๊ดปร๊าด บางทีก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะธรรมชาติของลูกเข้ากับพ่อแม่ไม่ได้ นอกจากนั้น กรณีที่ต้องระวังมากขึ้นสำหรับพ่อแม่ก็คือ ถ้ามีลูกสองคนแล้วลูกคนหนึ่งมีธรรมชาติไม่เข้ากับพ่อแม่ อาจทำให้เกิดความลำเอียงได้

“ถ้าเป็นพ่อแม่แล้วทุกคนก็รักลูก แต่เราต้องระมัดระวังที่จะไปสนิทกับลูกที่มีธรรมชาติตรงกับเรามากเกินไป หรือที่โบราณเราเรียกว่า ชะตาต้องกัน โดยไม่ได้เจตนา เพราะรู้สึกว่าลูกคนนี้น่ารักกว่าอีกคน ลูกอีกคนอาจมีปัญหาได้ค่ะ”

ในส่วนของการพัฒนาด้านอารมณ์และพฤติกรรมยังเกี่ยวข้องกับสมองของเด็กด้วย โดย พญ.พรรณพิมล เปิดเผยว่า สมองของเด็กมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ก็จะมีการทำลายเครือข่ายที่สร้างขึ้นไปแล้วด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้เช่นกัน หากพ่อแม่ไม่ทำลายเครือข่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือบางทีไปทำลายเครือข่ายที่ดีของเด็กด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ใหญ่ตีเด็กที่กำลังร้องไห้พร้อมขู่ว่าถ้ายังไม่เงียบจะไม่หยุดตี จะส่งผลให้สมองของเด็กคนนั้นเรียนรู้ว่า มีอารมณ์ไม่ได้ และเกิดการกดอารมณ์ตัวเอง ทั้งนี้ พฤติกรรมการกดอารมณ์จะไม่เป็นผลดีต่อเด็กในอนาคต และอาจเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมขึ้นได้ ทางออกของปัญหานี้คือ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับลูกว่าลูกกำลังมีอารมณ์โกรธ เสียใจ โมโห ฯลฯ ให้เด็กได้รู้จักกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ด้วยตนเอง และพยายามผ่อนคลายอารมณ์ของเด็กลง

ห้ามบ่อยครั้ง พลาดเรียนรู้

มีคำกล่าวว่า “การเรียนรู้ของเด็กขึ้นอยู่กับประสบการณ์” เด็กที่ถูกจำกัดการเล่น เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองกังวลเรื่องอันตรายมากเกินไปนั้นจะทำให้เด็กพลาดการเรียนรู้ที่สำคัญไปได้ด้วยเช่นกัน

“จริง ๆ แล้ว คำว่าไม่ สำหรับเด็กมีแค่ 3 ข้อ คือ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่ทำร้ายตัวเอง และไม่ทำร้ายคนอื่น ผู้ปกครองที่มักพูดคำว่า ไม่-อย่า-ห้าม จนติดปากอาจทำให้เด็กคนนั้นเรียนรู้ได้น้อยกว่าเด็กคนอื่น ควรจะปล่อยให้เขาไปคลุกฝุ่น เล่นดินได้บ้าง และคอยดูแลเรื่องความสะอาดแทน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้ โดยสามารถสังเกตได้จากประกายตา เมื่อเด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ตาของเด็กจะมีประกายวิ้งขึ้นมาเพียงแค่แป๊บเดียว จากนั้นจะตามมาด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วเพื่อไปคว้าสิ่งที่ต้องการ

“เด็กที่ใฝ่รู้มักจะมีคำถามอยู่เป็นประจำ ถ้าผู้ปกครองใส่ใจ ตอบคำถามของเขาตลอด ก็จะสามารถรักษาความอยากรู้ของเด็กไว้ได้ และทำให้เขาเป็นเด็กที่ใฝ่รู้ตลอดเวลา แต่โดยส่วนใหญ่ บางทีพ่อแม่ผู้ปกครอบก็เหนื่อยเกินกว่าจะทันสังเกตลูก ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ และอาจทำให้ความใฝ่รู้ของเขาลดลง”

ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็กๆ คุณหมอ ระบุว่า ไม่ถึงกับต้องมาพบจิตแพทย์ แต่หัวใจสำคัญ คือ การเรียนรู้ พ่อแม่ต้องแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเลี้ยงลูก จึงจะทำให้ครอบครัวมีความสุขได้
กำลังโหลดความคิดเห็น