สพฐ.ติวเข้มวิชาประวัติศาสตร์ หวังเยาวชนเห็นคุณค่า ความเป็นมาของชาติไทย ภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย สพฐ.จับมือกับกองทัพบก จัดพิมพ์หนังสือส่งเสริมประวัติศาสตร์ 35,000 เล่ม แจกให้แก่โรงเรียน อีกทั้งยกระดับครูแนะแนว หลังพบครูแนะแนว ร้อยละ 80 ไม่มีความรู้ด้านให้คำปรึกษา
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย” จำนวน 4 จุด จุดแรกโรงแรมแกรนด์ปาร์ค นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 2 ต.ค. จุดที่ 2 โรงแรมวรบุรีอโยธยา พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 5-8 ต.ค. จุดที่ 3 โรงเรียนเฮอร์มิเทจ รีสอร์ท แอนด์สปาโคราช นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค. และจุดสุดท้าย โรงแรมไพลิน สุโขทัย ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. โดยผู้เข้าร่วมประชุม สพฐ.ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เลือกครูผู้สอนระดับประถมศึกษา 1 คน ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษา 1 คน ครูศึกษานิเทศก์ 1 คน และครูผู้สอนประวัติศาสตร์ในจังหวัดที่จัดการประชุม จุดละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 650 คน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญาไทย
“ให้เยาวชนรู้สึกเห็นคุณค่า และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ สพฐ.ร่วมกับ กองทัพบก จัดทำหนังสือส่งเสริมการอ่านด้านประวัติศาสตร์ 9 เล่ม แยกเป็นระดับประถม 4 เล่ม ระดับมัธยม 5 เล่ม โดยจะจัดพิมพ์ทั้งสิ้น 35,000 เล่ม เพื่อแจกให้แก่สถานศึกษาต่อไป”
จากนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ยังได้ให้ สพท.จัดส่งครูแนะแนวมาเขตละ 2 คน โดยเน้นความรู้ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 การพัฒนาสมอง ซึ่งครูแนะแนวใกล้ชิดกับเด็กต้องให้คำปรึกษาแก่เด็กโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งยังต้องรู้ด้วยว่าพัฒนาการสมองของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายนั้นแตกต่างกัน เรื่องที่ 2 การเตรียมตัวสอบในระบบแอดมิชชัน ครูจะต้องศึกษาข้อมูลใหม่ๆ มาบอกแก่นักเรียน เพื่อให้เด็กเตรียมตัวสอบ เรื่องสุดท้าย สภาวะการแนะแนวในทุกเรื่อง
“ข้อมูลที่เรามีพบว่าครูแนะแนว ร้อยละ 80 ครูไม่ได้จบด้านแนะแนว เมื่อต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดนี้ครูต้องมีความรู้ให้รอบด้านเพื่อให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ดังนั้น เพื่อยกระดับครูแนะแนว จึงให้ครูที่ได้รับการอบรมกลับไปเผยแพร่ความรู้ให้กับครูแนะแนวในเขตของตนเองด้วย”