xs
xsm
sm
md
lg

การใช้ภาษาไทยของคนไทย “ขั้นวิกฤต” ต้นเหตุมาจากกลุ่มบันเทิง การเมือง สื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจปัญหาการใช้ภาษาไทยของคนไทยพบว่าอยู่ในขั้นวิกฤต “เขียนผิด พูดผิด จับใจความผิด ฟังผิด อ่านผิด” ชี้กลุ่มวัยรุ่น ดารา นักแสดง นักร้อง นักการเมือง และสื่อมวลชน ต้นตอให้เกิดปัญหาการใช้ภาษาไทยเพี้ยน

นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า 29 ก.ค. เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ศูนย์วิจัยฯ จึงได้ทำวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติ และปัญหาในการใช้ภาษาไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” จำนวน 2,452 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 ก.ค.2551 ผลการสำรวจพบประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.1 ไม่ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันใด มีเพียงร้อยละ 9.9 ที่ทราบและตอบถูกว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี

ครั้นถามว่าภาษาไทยมีพยัญชนะกี่ตัว พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 ทราบ และตอบได้ถูกต้องว่ามี 44 ตัว ในขณะที่ร้อยละ 21.5 ระบุไม่ทราบ ถามว่าภาษาไทยมีสระทั้งหมดกี่รูป พบว่าร้อยละ 86.7 ไม่ทราบ มีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่ระบุทราบและตอบว่ามี 21 รูป ขณะที่ร้อยละ 73.7 ไม่ทราบว่าภาษาไทยมีวรรณยุกต์กี่รูป มีเพียงร้อยละ 26.3 เท่านั้นที่รู้ว่ามี 4 รูป 5 เสียง นอกจากนี้ เมื่อถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ผู้ถูกศึกษามักจะประสบด้วยตนเอง พบว่า ร้อยละ 54.5 ระบุ เขียนผิด รองลงมาคือร้อยละ 27.2 ระบุ พูดผิด ร้อยละ 27.2 เท่ากันระบุ จับใจความ เข้าใจผิด ร้อยละ 20.2 ระบุ ฟังผิด และร้อยละ 19.1 ระบุ อ่านผิด ตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในการใช้ภาษาไทย ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 ระบุกลุ่มวัยรุ่น รองลงมาคือร้อยละ 48.5 ระบุกลุ่มดารา นักแสดง ร้อยละ 34.6 ระบุกลุ่มนักร้อง ร้อยละ 31.8 ระบุกลุ่มนักการเมือง และร้อยละ 19.6 ระบุสื่อมวลชน เมื่อถามถึงรายการโทรทัศน์ที่ช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยได้อย่างดีในสายตาประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ ร้อยละ 60.7 ระบุเป็นรายการคุณพระช่วย รองลงมาคือร้อยละ 18.3 ระบุเป็นรายการกระจกหกด้าน ร้อยละ 8.3 ระบุรายการชิงช้าสวรรค์

การแก้ไขปัญหาภาษาไทยเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูการใช้ภาษาไทยในช่วงนี้ พบว่า ร้อยละ 89.8 ต้องเร่งแก้ไข ขณะที่ร้อยละ 10.2 ไม่ต้องเร่งแก้ไข และร้อยละ 23 ระบุควรมีรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้มากขึ้น ร้อยละ 19 ระบุสอนวิชาภาษาไทยให้มากขึ้น ร้อยละ 18.4 ระบุอนุรักษ์การพูด การอ่านแบบไทยๆ ร้อยละ 15.6 ระบุจัดประกวดการใช้ภาษาไทย แข่งขันคัดลายมือ แข่งขันแต่งกลอน ร้อยละ 15 ระบุส่งเสริมการอ่าน การพูดภาษาไทยในสถาบันการศึกษา และร้อยละ 8.8 ระบุจัดการแข่งขันอ่านร้อยแก้ว ร้อยกรองระดับประเทศ ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น