สธ.เตรียมเสนอของบกลางคณะรัฐมนตรี เพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในวันพรุ่งนี้ สรุปยอดผู้ป่วยน้ำท่วมรอบ 18 วัน มี 189,513 ราย เสียชีวิต 20 ราย สนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 498,750 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้าและยาทากันยุง 50,000 ชุด ชี้ การปฏิบัติงานหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ สามารถลดความรุนแรงและป้องกันโรคแทรกซ้อนของการป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วมอย่างดี ไม่มีนอนโรงพยาบาล
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขจะนำเสนอผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมรอบ 18 วันที่ผ่านมา ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และจะเสนอของงบกลางเพื่อใช้ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ไปในการจัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์เพื่อป้องกันควบคุมโรค ซึ่งจะต้องดำเนินการทั้งระหว่างน้ำท่วม และต่อเนื่องไปจนถึงหลังน้ำลดลงเป็นปกติแล้ว รวมทั้งการซ่อมแซมสถานบริการสาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 30 แห่ง ทั้งนี้ การจัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด พบว่า ได้ผลดี โดยเฉพาะสามารถลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย ทำให้ไม่มีผู้ประสบภัยอาการหนักหรือเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลแม้แต่รายเดียว
ด้าน นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบ 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-28 กันยายน 2551 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กระทรวงสาธารณสุข ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 963 หน่วย มีผู้ป่วยมารับบริการรวม 189,513 ราย ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง โรคที่พบมากสุด 5 อันดับแรกคือ โรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน โรคไข้หวัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการกินอาหารและน้ำไม่สะอาด โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 20 ราย ดังนี้ หนองบัวลำภู 4 ราย พิจิตร 3 ราย ลพบุรี ปราจีนบุรี สระบุรี พิษณุโลกจังหวัดละ 2 ราย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ แม่ฮ่องสอน และขอนแก่น จังหวัดละ 1 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ประกอบด้วย ยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 498,750 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้าและยาพ่นกันยุงตะไคร้หอม 50,000 ชุด รองเท้าบู๊ทป้องกันโรคฉี่หนู 11,100 คู่ ห้องสุขาเคลื่อนที่ ตลอดจนจัดหาถุงยังชีพสนับสนุนให้จังหวัดที่ประสบภัยด้วย
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทุกปี โรคตาแดงเป็นโรคหนึ่งที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม มักเกิดกับเด็กที่ชอบลงเล่นน้ำและน้ำเข้าตา ซึ่งน้ำที่ท่วมขังเป็นน้ำที่สกปรกอยู่แล้ว เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ในปีนี้พบผู้ป่วยบ้าง แต่ไม่มีการระบาด เมื่อน้ำสกปรกเข้าตาต้องให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โรคนี้จะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน อาการจะระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง อาการมักหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หากดูแลไม่ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว เมื่อป่วยเป็นโรคตาแดง ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตารักษาป้องกันภาวะแทรกซ้อน หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา ผู้ป่วยโรคตาแดงต้องนอนแยกจากคนอื่น และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว