สธ.เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร รอบ 9 วัน ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัย 361 หน่วย มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเจ็บป่วย 53,946 ราย ส่วนใหญ่เป็นผื่นคันและโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 35 รองลงมาเป็นไข้หวัดร้อยละ 27 และอุจาระร่วงร้อยละ 15 สำหรับโรคน้ำกัดเท้าแนะผู้ประสบภัยล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งจะสามารถป้องกันได้
วันนี้(20 ก.ย.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า
ในรอบ 9 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11-19 กันยายน 2551 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 361 หน่วย มีผู้เจ็บป่วยมารับบริการรวม 53,946 ราย ส่วนใหญ่เป็นผื่นคันและโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 35 รองลงมาเป็นไข้หวัดร้อยละ 27 และอุจาระร่วงร้อยละ 15 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 คน ส่วนใหญ่ถูกน้ำพัด ขณะหนีน้ำ
เฉพาะในวันที่ 19 กันยายน 2551 ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านให้กับจังหวัดขอนแก่น 6,000 ชุด จังหวัดนครราชสีมา 5,000 ชุด และจังหวัดพิจิตร 3,000 ชุด
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือย่ำน้ำสกปรกได้ แต่สามารถป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้ โดยหลังจากแช่น้ำต้องทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกเท้า แต่หากพบว่ามีแผลที่เท้า ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้ นอกจากนี้เตือนประชาชนที่มีบาดแผลที่เท้า อย่าไปเดินใกล้บริเวณคอกสัตว์ อาจติดเชื้อโรคฉี่หนูได้
นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า โรคน้ำกัดเท้าในระยะแรก จะมีอาการระคายเคือง คันและแสบ รักษาโดยการทายา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ แต่หากพบว่าผิวเปื่อยเป็นแผลมีการติดเชื้อ จะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องรักษาโดยกินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากอาการผิวลอกเปื่อยและชื้นอยู่เป็นเวลานานอาจจะมีการติดเชื้อราได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันเชื้อราที่เท้า ควรล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าและเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ อาจใช้แป้งโรยตามง่ามเท้าก่อนที่จะใส่รองเท้าเพื่อดูดความชื้น