xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนกลยุทธ์ดึงคนเก่ง สพฐ.ปรับเงินเดือนครูใหม่รับสูงแรกเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.ขายไอเดีย ปรับโครงสร้างเงินเดือนครูใหม่ รับเงินเดือนสูงตั้งแต่แรกแต่เงินเดือนเกษียณเท่าอัตราในปัจจุบัน หวังดูดคนเก่งมาเป็นครู เตรียมนำร่องกับโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 3 แห่งในปีการศึกษา 52

วันนี้ (16 ก.ย.) นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการคุยกันเกี่ยวกับการดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยเสนอไอเดียว่าน่าจะปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูใหม่ให้เงินเดือนเริ่มต้นสูงขึ้น ซึ่งแรงจูงใจนี้น่าจะดึงคนเก่งให้สนใจมาเป็นครูได้

ขณะนี้เงินเดือนข้าราชการครูเริ่มต้นประมาณ 8,000 บาท ส่วนเงินเดือนเกษียณประมาณ 35,000 บาท สำหรับเงินเดือนที่สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ลำบากสามารถส่งลูกเรียนโดยได้ อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าเงินเดือนของข้าราชการครูต่ำเกินความเป็นจริง จึงดึงคนเก่งมาเป็นครูไม่ได้ นอกจากนี้โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการครูของไทยก็สวนทางกับประเทศอื่นๆ มาก อย่างประเทศมาเลเซียนั้น เงินเดือนเกษียณต่างจากเงินเดือนเริ่มต้นแค่ 1.5 เท่า ดังนั้น ควรจะมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนครูใหม่ให้เงินเดือนเริ่มต้นสูงขึ้นแต่เงินเดือนเกษียณเท่าอัตราเดิม

“ขณะนี้มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แห่งเดียว ที่มีโครงสร้างเงินเดือนสูง เริ่มต้นที่ประมาณ 15,000 บาท แต่อัตราเพิ่มของเงินเดือนจะไม่สูงเท่าข้าราชการ เพื่อให้เงินเดือนเกษียณเท่ากับข้าราชการ อย่างไรก็ดี การสตาร์ทเงินเดือนสูงส่งผลให้โรงเรียนดึงคนเก่งมาเป็นครูได้ และหากมีการปรับโครงสร้างช่วงเริ่มต้นทำงานสูงไม่น่าทำให้เป็นภาระงบประมาณมากขึ้น เพราะเงินเดือนเกษียณเท่าเดิม เงินเดือนเพิ่มรายปีในอัตราน้อยกว่าข้าราชการ”

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ปีการศึกษา2552 สพฐ.วางแผนไว้ว่า จะเริ่มนำโครงสร้างเงินเดือนของโรงเรียนมหิดลฯมาลองใช้กับโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 3 แห่ง

นายสมเกียรติ บอกด้วยว่า เชื่อว่า แนวคิดฐานเงินเดือนสูง ต้องต่อสู้อีกนานกว่าจะเป็นรูปธรรม ช่วงนี้ สพฐ.แค่พยายามสื่อสารขายไอเดียต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันจะให้มีการทำวิจัยควบคู่กันไปด้วย ว่า การเพิ่มเงินเดือนครูสูงขึ้น ดึงคนเก่งมาเป็นครูได้จริงหรือไม่ รวมถึงดูผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนมีคุณภาพดีขึ้นหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น