xs
xsm
sm
md
lg

นำร่อง 3 ร.ร.ประสบภัยธรรมชาติทำหลักสูตรสถานศึกษารับมือภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
ศธ.ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และ มท.ให้การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ นำร่องพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา 3 โรงเรียนประสบภัย “ดินถล่ม-อุทกภัย-สึนามิ” จัดกิจกรรมการสอน และอบรมครูด้านป้องกันภัยพิบัติ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทยได้เพิ่มความถี่ และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยฝนตกหนัก และน้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม เกิดพายุไต้ฝุ่น และคลื่นยักษ์สึนามิ ล้วนสร้างความเสียหาย และสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยเฉพาะการให้การศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ การเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการ เพิ่มศักยภาพในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาในพื้นที่เสี่ยงภัยมีการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้ และขยายผลไปยังสถานศึกษา และชุมชนในพื้นที่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการให้การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการความร่วมมือ ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศไทย โดยได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อนำร่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา พัฒนาสื่อ และกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งอบรมครูโรงเรียนต้นแบบในด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งขยายผลให้นักเรียนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการและเตรียมความพร้อมเผชิญสถานการณ์

สำหรับโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่เสี่ยงภัยนำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ดินถล่ม) โรงเรียนบ้านหาดหงส์ อำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพร (อุทกภัย) โรงเรียนท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (สึนามิ) และครูโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนร่วมโครงการ และบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ผ่านการอบรมมีจำนวน 51 คน และสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีจำนวนหกเล่ม ได้แก่ หนังสือประกอบการเรียนรู้และคู่มือจัดการเรียนรู้ประกอบหนังสือ เรื่องดินถล่ม เรื่องอุทกภัย และเรื่องสึนามิ

“หนังสือดังกล่าวเน้นให้ความรู้เบื้องต้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น ลักษณะและสาเหตุการเกิด การอพยพหนีภัย มาตรการการเตรียมความพร้อม เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของนักเรียนหรือจากผู้ประสบภัย และตัวอย่างเหตุการณ์ภัยพิบัติในต่างประเทศ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ประยุกต์มาจากประเทศญี่ปุ่น เช่น กิจกรรมสถานการณ์จำลอง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และกิจกรรมการซ้อมอพยพหนีภัย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว จำนวน 105,000 เล่ม โดย สพฐ.ได้แจกให้สถานศึกษาในสังกัด ใช้ประกอบการเรียนการสอนทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น