คัดเลือก เลขาฯ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 4 หมอ “สุรจิต-แท้จริง-สมชาย-ชาตรี” แคนดิเดต ชี้ คุณสมบัติต้องฟิต พร้อมรับงานหนัก 24 ชม.ระบุตามกฎหมายได้เลขาฯ การแพทย์ฉุกเฉินภายใน 20 ก.ย.นี้
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (กพฉ.) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้จัดให้มีการสอบสัมภาษณ์เพื่อให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ โดยใช้เวลาในการสัมภาษณ์คนละประมาณ 15 นาที มีผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ 7 ราย จากผู้มาสมัครทั้งสิ้น 8 ราย มีผู้สละสิทธิ์ 1 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นแพทย์ 4 ราย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งสามารถเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมได้อย่างน้อย 3 รายชื่อตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะแจ้งผลการแสดงวิสัยทัศน์ให้กับผู้สมัครรับทราบภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการบริการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (บอร์ด กพฉ.) ที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาลงความเห็นร่วมกันในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะเป็นเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ
นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการคัดเลือกนั้น ภายในสัปดาห์จะแจ้งรายชื่อผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด จำนวน 3 ราย เสนอให้บอร์ด กพฉ.เป็นผู้พิจารณาลงคะแนน โดยจะต้องสรรหาตำแหน่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯภายในวันที่ 20 กันยายน นี้ ตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี และรับตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ และหากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จะถือว่าหมดวาระลงทันที
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวว่า คณะกรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมด โดยเน้นเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 คือ มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปแต่ต้องไม่เกิน 60 ปี ไม่เป็นบุคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลให้จำคุก หรือยึดทรัพย์จากการทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ ยกเว้นเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ต้องไม่เป็นผู้บริหาร พนักงานของรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่มีเงินเดือนประจำ รวมทั้งต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง นักการเมือง ส.ส. ส.ว.ผู้บริหารท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดจากตำแหน่งเพราะทุจริต
“ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการทำงานด้านการแพทย์ เพราะต้องให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และการเจ็บป่วยต่างๆ จึงต้องมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการแพทย์ฉุกเฉิน ถือเป็นงานที่หนักมาก เพราะการเกิดเหตุภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เป็นเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นพ.วินัย กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดต ในการคัดเลือกครั้งนี้ 4 คน ได้แก่ 1.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักนโยบายและแผน สปสช. 2.นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ 3.นพ.สมชาย กาญจนสุต อดีตผู้อำนวยการสำนักระบบบริหารการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์นเรนทร) 4. นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่นครสวรรค์