xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือพัฒนาลูกสู่ความเป็นเลิศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะการเลี้ยงลูก คือ ภารกิจของความรักที่พ่อแม่ต่างตั้งใจทำให้ดีที่สุดแก่ลูกน้อย แต่คำถามก็คือจะมีวิธีการอย่างไรที่จะช่วยส่งเสริมและเลี้ยงดูให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และจะพัฒนาศักยภาพของเขาไปสู่จุดสูงสุดในด้านต่างๆ ได้อย่างไร

พญ.จิตรา วงศ์บุญสิน กุมารแพทย์ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กมากว่า 30 ปี และเป็นผู้แต่งหนังสือ “ออกแบบลูกรักด้วยวิธีเลี้ยง” ให้ความรู้ในเรื่องนี้ในการสัมมนาเรื่อง “พัฒนาลูกรักสู่ความเป็นเลิศ” ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์และภาษาคุมอง (Kumon) ว่า พ่อแม่ทุกคนมุ่งหวังที่จะให้ลูกเป็นคนดีและเก่ง แต่สิ่งสำคัญที่จะพาเขาก้าวไปเป็นเด็กดีและเก่งได้นั้นคือ เด็กจะต้องมีความสุขในการดำเนินชีวิตเป็นพื้นฐานก่อน ซึ่งความสุขนั้นเกิดจากความรักภายในครอบครัวนั่นเอง
 
นอกจากนี้ พ่อแม่จะต้องพัฒนาลูกทั้งทางร่างกายและสติปัญญา ซึ่งการมีปฏิกิริยาต่อสังคม การเลี้ยงดูที่ดี การใช้สมองทำงานต่างๆ ที่ท้าทาย รวมถึงการละเล่นต่างๆ ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและใยประสาทของเด็กทั้งสิ้น

“พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกให้เหมือนกับ เก้าอี้ 4 ขา ได้แก่ ขาที่ 1 คือ อาหารและการออกกำลังกาย โดยรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง และรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ขาที่ 2 คือ สมอง โดยการเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ขาที่ 3 คือ อารมณ์ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ซื่อสัตย์ และหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเชิงลบแก่เขา เช่นคำว่า ไม่ อย่า ขาที่ 4 คือ จิตวิญญาณ สอนให้เขารู้จักตัวเอง รู้ว่าเขาต้องการอะไร”

พญ.จิตรา แนะนำเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จพ่อแม่จะต้องใช้วิธีฟังความคิดเห็นของลูกแล้วค่อยเสริมความคิดของเรา โดยจะพ่อแม่ต้องสอนลูก ต้องให้เขาเห็นและให้เขาหัดคิดให้เป็น มีความคิดเป็นระบบ รวมทั้งควรมีมีเกร็ดดีๆ มาเล่าให้ลูกฟัง ซึ่งจะทำให้ลูกค่อยๆ เก็บทีละเล็กทีละน้อย

“สำหรับตัวหมอเอง ลูกของหมอเอง (น้องปิงปอง หรือ เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน ผู้ซึ่งคว้ารางวัลเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกวิชาการ ปี 2007 และทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล) สิ่งที่หมอให้ลูกมากที่สุด คือ วิธีคิด ให้เขามองภาพรวมให้เป็น และไม่ว่าลูกจะทำอะไร ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร หมอจะบอกเขาว่ามีสิ่งอื่นที่ดีๆ อีกมากมาย คนเป็นพ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่า อย่างเช่น ตอนที่น้องปิงปองไปแข่งโอลิมปิกวิชาการครั้งแรก เขาทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร หมอก็บอกเขาว่าไม่ต้องเครียด เพราะเหรียญรางวัลไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ไอคิวของคนเรามีขึ้น มีลง แต่สิ่งที่เขาได้แน่นอนคือประสบการณ์ชีวิต พอไปครั้งที่สองเขาก็ไม่เครียด สบายๆ ผลปรากฏว่าเขาทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของทั้งตัวเขาเองและที่บ้านด้วย”

“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก และเมื่อลูกทำผิดพลาดก็ไม่ควรซ้ำเติมให้เขารู้สึกแย่ พ่อแม่ควรแยกความผิดพลาดออกจากตัวเด็ก นอกจากนี้ ต้องสอนให้เขารู้จักขอบคุณและขอโทษให้เป็น เพราะเป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อมต่อผู้อื่น รวมถึงการรักษาคำพูด ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้คนอื่นเชื่อถือในตัวลูกของเรา” แพทย์หญิงจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น