xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่วมมือ ก.วิทย์ เดินหน้าฝังรากฟันเทียมพระราชทาน ตั้งเป้าปีละ 5 พันคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เดินหน้าฝังรากฟันเทียมพระราชทาน ฯ ในผู้สูงอายุตั้งเป้านี้ 5,000 รายฟรี แก้ปัญหาปัญหาฟันเทียมหลวม หลุด เคี้ยวข้าวไม่สะดวก พร้อมรับมอบรากฟันเทียมผลิตโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล็อตแรก 12,500 ราก จัดส่งให้สถานบริการ 116 แห่ง ชี้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กรมวิทย์ใช้เป็นต้นแบบรากฟันเทียมของไทย ต้นทุนแค่ 6 พันบาท ถูกกว่านำเข้า 10 เท่า

วันที่ 25 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธีส่งมอบชุดรากฟันเทียมที่ผลิตโดย สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 12,500 ราก ให้หน่วยบริการสาธารณสุขที่ดำเนินการในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นำไปให้บริการแก่ผู้สูงอายุในโครงการต่อไป

นายชวรัตน์ กล่าวภายหลังว่า สธ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้บริการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับฟันเทียมในโครงการฟันเทียมพระราชทานของ สธ.ฟรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2550 - กันยายน 2552 จำนวน 10,000 คนทั่วประเทศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 134 ล้านกว่าบาท โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้ารับบริการแล้ว 8,000 ราย ตั้งเป้าหมายใส่ใน 2551-2552 ปีละ 5,000 คน คาดเดินหน้าได้ตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไป

นายชวรัตน์ กล่าวว่า รากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ผ่านมาต้องนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศราคารากละ 50,000-120,000 บาท ทำให้ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาเข้าถึงบริการได้น้อย โดยรากฟันเทียมที่ผลิตครั้งนี้ เป็นต้นแบบรากฟันเทียมที่ผลิตในไทย คุณภาพได้มาตรฐานสากล ราคารากละ 5,000-6,000 บาท ถูกกว่าต่างประเทศเกือบ 10 เท่าตัว ช่วยประหยัดงบประมาณรัฐ ลดการเสียเงินออกต่างประเทศหากนำเข้ารากฟันเทียมมาใช้ในโครงการนี้ได้ถึง 1,200 ล้านบาท และช่วยให้ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสได้รับการดูแลรักษาครอบคลุมยิ่งขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ด้านทพ.สมชัย ชัยศุภมงคลลาภ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการนี้ เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาหลังใส่ฟันเทียมแล้วหลุดง่าย เนื่องจากมีการละลายตัวของสันกระดูกขากรรไกร ทำให้ไม่สามารถใช้ฟันเทียมบดเคี้ยวอาหารได้ดี จึงต้องใช้วิธีการฝังรากฟันเทียมที่บริเวณขากรรไกรล่างทั้งข้างซ้ายและขวา รายละ 2 ราก เพื่อช่วยยึดฟันเทียมให้ติดแน่นขึ้น รวมทั้งจะต้องไม่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวไม่เหมาะกับการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุม เป็นต้น และต้องมีกระดูกเบ้าฟันเพียงพอรองรับรากฟันเทียม ซึ่งที่ผ่านมามีการทดลองผ่าตัดให้ผู้ป่วยแล้ว 30 ราย ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

ทพ.สมชัย กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียม ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม 2 ราก ใช้เวลาผ่าตัดนาน 30 นาที จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือนเพื่อให้กระดูกสร้างเนื้อเยื้อเกาะติดรากฟัน จากนั้นจึงใส่อุปกรณ์อีก 1 ชิ้นเป็นตัวยึดติดกับฟันเทียมปกติ ทิ้งไว้อีก 1 เดือน ก็จะสามารถใช้งานรากฟันเทียมได้เต็มประสิทธิภาพคือยึดติดกับฟันเทียมเดิมที่มีอยู่โดยที่ไม่หลุดหรือหลวมอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน ซึ่งในปี 2551 มีงบประมาณ 39 ล้านบาท สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 30,000 คน โดยผู้สนใจสามารถขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลในโครงการ 116 แห่งทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น