xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ใช้ ICS รับ Storm surge ชี้ พท.เสี่ยงบางนาถึงสมุทรปราการ อาจท่วมถึง 2 เมตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองการเกิดStorm surge
กทม.นำระบบ ICS ของอเมริกาที่ใช้หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 911 ของอเมริกา รับมือ Storm surge ขณะที่คาดการณ์พื้นที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่แยกเขตบางนา ไป จ.สมุทรปราการ ส่วนเขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง อาจจมใต้น้ำถึง 1 เมตร ส่วนพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ จะมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีที่ นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมายืนยันถึงการเตือนภัยปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูง (Storm Surge) ซึ่งทำนายว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งมีความรุนแรงไม่ต่างจากพายุนาร์กีสในพม่า โดยเอาตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นประกัน ว่า
 
เรื่องนี้ กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือต่อต้านการออกมาเตือนเรื่องดังกล่าว แต่จากการหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จากข้อมูลสถิติในช่วง 57 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยมีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวขึ้นแล้วพัดเข้า กทม.อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ กทม.จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ในระดับวิกฤต และกรณีเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งที่กองบัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบก เขตบางนา ซึ่งที่ประชุมจะหารือถึงกรณีหากเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูง แล้วพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบบ้าง ความรุนแรง และแผนการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น

สำหรับแผนการป้องกันภัยพิบัติของ กทม.นั้น ได้นำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ในระดับวิกฤตมาใช้ มีสำนักการระบายน้ำ (สนน.) และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ มีการประเมินพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบกรณีเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงจะเป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำ ประกอบด้วย เขตบางนา ตั้งแต่แยกบางนา ไป จ.สมุทรปราการ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตจอมทอง จะเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่า พื้นที่จะจมอยู่ใต้น้ำ 50 เซนติเมตร-1 เมตร ส่วนพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร
ภาพเหตุการณ์จริงการเกิดStorm surge ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ กทม.มีแผนที่จะอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเบื้องต้นจะประสานกับเหล่าทัพในการจัดหาเรือท้องแบน รถบรรทุก ในการเข้าไปรับประชาชนออกจากพื้นที่ ส่วนสถานที่รองรับได้เตรียมการประสานกับศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบเทค บางนา) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนา โรงเรียน และวัดในพื้นที่ เป็นต้น

ส่วนแผนป้องกันและเผชิญเหตุ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้น กรณีที่เกิดเหตุจะมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมภัยพิบัติ โดยจะนำระบบ ICS (Incident command System) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้หลังจากเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยา โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 12 ฝ่าย เช่น ฝ่ายดำเนินการ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายจัดหาที่พักพิง ฝ่ายรับบริจาค ฝ่ายเข้ารื้อถอน หน่วยเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิต ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ ฝ่ายอาหาร เป็นต้น มีตัวแทนกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการ หากกรมอุตุนิยมวิทยาตรวจพบว่ามีพายุก่อตัวขึ้นในอ่าวไทย ศูนย์ดังกล่าวจะต้องสามารถเรียกประชุมได้ภายใน 1 ชั่วโมง รวมทั้งออกประกาศแจ้งเตือนกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น