วิถีชีวิตของชนชาวไทยตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ในส่วนของคติ ความเชื่อ ก็ยังคงอยู่คู่คนไทยมาตลอด ซึ่งแล้วแต่ว่าในแต่ละพื้นที่จะจัดวางให้ความเชื่อเหล่านั้นอยู่ตรงส่วนไหนของสังคม สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอาหารของแต่ละพื้นที่นั้น ยังคงเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึง แต่ก็เลือนหายไปบ้าง
ด้วยเหตุดังกล่าว สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของ “อาหารกับความเชื่อในสังคมไทย” ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ และย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังได้เกิดความตระหนักถึงวิถีชีวิต ความเชื่อที่มีมาช้านาน
เริ่มกันที่ตอนบนของประเทศอย่างภาคเหนือ...
อาจารย์ ยุพิน เข็มมุกด์ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปวัฒนธรรม สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ให้คำอธิบายว่า วัฒนธรรมการกินของชาวเหนือเป็นไปตามบรรพบุรุษ อาหารส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติ เช่นของป่า หรือสิ่งที่อยู่ภายในบริเวณบ้าน เช่น พืช ผัก และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เอง โดยรวมไปถึงอาหารที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลเช่น หน่อไม้ป่า เห็ดป่านานาชนิด
เมื่อกล่าวถึงความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้น พบว่าส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของการดูแลรักษาตัวเอง อย่างคนป่วยจะห้ามกินของแสลง เช่น หากเป็นไข้ ไม่สบาย ห้ามกินเนื้อวัว ซึ่งหากกินเชื่อว่าจะรักษาไม่หาย เมื่อเป็นฝี หนอง ห้ามกินของหมักดอง ของเค็ม
ในส่วนของคนท้องจะมีข้อห้าม และความเชื่ออยู่มากยกตัวอย่างเช่น คนที่ใกล้คลอดจะห้ามกินหอย เพราะเชื่อว่าเด็กจะมีพัฒนาการที่เชื่องช้า หรือบางพื้นที่จะบอกว่าเด็กจะพูดมาก “พูดเป็นต่อยหอย” แต่ให้กินอาหารที่มีลักษณะลื่นไหล เพราะจะทำให้คลอดง่าย ห้ามกินเต่าเพราะอายุเด็กจะสั้น ห้ามกินผักที่มีมือเกาะเพราะจะทำให้คลอดยาก บางครั้งหากคลอดไม่ออกแสดงว่าในอดีตเคยด่าว่าพ่อแม่ของตัวเอง ต้องทำการขอขมาแล้วให้นำชายผ้าซิ่นผ้านุ่งของแม่มาแช่น้ำแล้วดื่ม ก็จะทำให้คลอดเป็นปกติ
ด้านงานพิธีกรรมต่างๆ หากเป็นงานมงคลจะนิยมทำลาบ หากเป็นงานอวมงคลจะไม่นิยมทำอาหารที่มีเส้น สาย หรือผักที่ไม่เป็นมงคลเช่น ฟัก, หยวก ซึ่งเชื่อว่าในอดีตคนโบราณจะใช้ของเหล่านี้ในการดูดกลิ่น ดูดน้ำเหลืองของศพในโลงจึงไม่ควรนำมาทำอาหาร
“ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้จะเห็นอยู่แต่ในชนบท เพราะ 1.อำนาจการซื้อยังไม่มี 2.ยังถูกสั่งสอนอยู่เสมอ 3.ยังมีตัวอย่างให้เห็นจากคนเฒ่าคนแก่ และ ณ วันนี้การที่คนชนบทไปหาหมอแผนปัจจุบันเขาจะไม่ค่อยได้คำตอบว่าเป็นอะไร ตรวจเสร็จก็สั่งยา แต่ต่างกับการหาหมอพื้นบ้านที่จะซักถามประวัติอย่างละเอียด พูดคุยวินิจฉัยนาน บางครั้งพูดคุยกันจนลืมความเจ็บป่วย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเหมือนจิตวิทยาพื้นบ้าน ทำให้ผู้คนหันกลับไปหาหมอบ้านมากขึ้น” อ.ยุพิน อธิบาย
ล่องลงมาสู่ดินแดนด้ามขวานทองกับพื้นที่ที่มีคติ ความเชื่อเรื่องของอาหารการกินเช่นกัน
รศ.อุดม หนูทอง คณะศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ อธิบายไว้ว่า เนื่องจากภูมิประเทศของภาคใต้มีลักษณะเป็นภูเขาขนาบข้างด้วยทะเล ทำให้วัตถุดิบมีความอุดมสมบูรณ์ นำมาปรุงอาหารในรูปแบบต่างๆ ทำให้ชาวใต้อยู่กินกันแบบเรียบง่าย โดยอาหารหลักจะอยู่ที่ข้าวเจ้า โดยมีข้าวเหนียวใช้ตามงานพิธีกรรมเท่านั้น
สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้น รศ.อุดม ยกตัวอย่างว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีข้อห้ามมากเป็นพิเศษ จะห้ามกินปลามัน (ปลาไม่มีเกล็ด) ผักเลื้อยต่างๆ ในส่วนของโรคภัยไข้เจ็บก็มีอาหารที่เป็นของแสลงเช่น คนเป็นริดสีดวงทวารจะห้ามกินปลาไหล ปลากระเบน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาหารตามฤดูกาลที่ช่วยเสริมธาตุในร่างกาย เช่น ในฤดูฝนต้องกินของที่มีรสเผ็ดร้อน ถ้าฤดูร้อนก็กินของที่มีรสเย็น อย่างน้ำมะพร้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นความเชื่อแต่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมายาวนาน
ในด้านของพิธีกรรมนั้น หากเป็นงานมงคลส่วนใหญ่จะเป็นงานที่แสดงถึงการมีพวกพ้องของเจ้าของงาน ตามคตินิยมจึงต้องเลี้ยงขนมจีน ถือเคล็ดว่าเป็นคนมีเส้นสาย ในงานแต่งงานก็จะกินเหนียว (ข้าวเหนียว) ส่วนงานศพก็จะไม่นิยมทำอาหารประเภทปลา ส่วนใหญ่จะต้องล้มวัวเป็นอาหาร ซึ่งเป็นค่านิยมที่ว่าด้วยศักดิ์ศรี ถือเป็นการให้เกียรติผู้ตาย อีกทั้งกลายเป็นสิ่งแสดงถึงความหน้าใหญ่ ใจโตของเจ้าของงาน ซึ่งในอดีตวัวที่นำมาเป็นอาหารในบางงานต้องเป็นวัวที่ลักขโมยมา จะเป็นการบ่งบอกถึงการมีบารมีของเจ้าของงาน แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว
“คนในชนบทจะอยู่กับสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่น แต่คนเมืองจะอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งตอนนี้สิ่งอำนวยความสะดวกก็เข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว อีกทั้งวิทยาการทางการแพทย์ก็เจริญก้าวหน้าทำให้ความเชื่อ ข้อห้ามในเรื่องต่างๆ ถูกลบเลือนไปบ้างเช่นกัน” รศ.อุดม ฝากข้อคิด
มาถึงดินแดนแห่งที่ราบสูง ก็มีคติความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องอาหารไม่แพ้กันซึ่ง รศ.ดนุพล ไชยสินธุ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.ราชภัฏเลย อธิบายว่า พัฒนาการทางสังคมของคนอีสานจะอยู่กับธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบในการทำอาหาร ทั้งพืช ผัก สัตว์ จนกระทั่งแมลง โดยวัฒนธรรมการกินอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ ก็มีมาช้านาน ส่วนอาหารต้องห้าม คือ อาหารที่เป็นของเหลือเดน อีกทั้งผู้น้อย หนุ่มสาว จะไม่กินอาหารก่อนผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ ซึ่งแฝงคำสอนให้รู้จักเคารพผู้อาวุโส แต่เนื่องจากอีสานเป็นภาคที่แห้งแล้ง ทำให้วัฒนธรรมการกิน การทำกับข้าว จะกินกันอย่างพอเพียง โดยมีกับข้าวไม่กี่อย่างแต่แบ่งกินกันหลายคน ซึ่งก็มีนัยแฝงว่าทุกคนในครอบครัวจะได้พูดคุยกัน แต่ปัจจุบันคนในครอบครัวต่างก็แยกย้ายกันไป ทำให้วิถีในอดีตหายตามไปด้วย
ส่วนข้อห้ามต่างๆ ในส่วนของงานพิธีกรรมจะไม่นิยมนำสัตว์ใหญ่มาทำอาหาร และคนที่มีของ มีวิชาอาคมจะไม่กินอาหารที่เลี้ยงในงานศพ เชื่อว่าจะทำให้วิชาเสื่อม และยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ก็จะมีความเข้มงวดอย่างมาก เช่น แม่ลูกอ่อนที่อยู่ไฟ ต้องกินปลา เกลือ ไข่ และข่าเพื่อช่วยสมานแผล แต่ห้ามกินของทะเล ของที่มีกลิ่นเหม็น เช่น ชะอม ของหมักดอง จนกระทั่งห้ามกินสัตว์ที่อยู่ใต้ดินอย่าง ตุ่น เต่า และห้ามกินต่อ แตน เพราะจะทำให้ลูกอารมณ์ร้าย เป็นต้น
“หลังจากยุคทุนนิยมเข้ามาวัฒนธรรมกินของคนอีสานก็เปลี่ยนไป แต่ในเรื่องการกินสุกๆ ดิบๆ ยังคงเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ก็ต้องระวังเพราะมีสารพิษ และพยาธิตกค้างอยู่มาก ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่อาหารมีความสะอาดมากว่า” รศ.ดนุพล ให้ภาพ
สุดท้ายที่ความเชื่อในแบบฉบับของคนภาคกลางโดยจะอิงกับความเชื่อตามหลักศาสนา
อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ อธิบายว่า ตามหลักพุทธศาสนาจะห้ามกินเนื้อสัตว์ 10 อย่างคือ คน, ช้าง, ม้า, งู, สิงห์ เสือ, สุนัข, แมว, หอยขม หอยโข่ง, เต่า ตะพาบน้ำ และ นกแร้ง นกแสก นกเค้า อีกทั้งสัตว์ที่โดนฟ้าผ่าตายก็ห้ามกิน เพราะเป็นอัปมงคล ห้ามกินของเหลือจากที่สัตว์กิน ห้ามกินของเซ่นไหว้
ส่วนข้อห้ามที่เป็นคติโบราณ เช่น ห้ามกินก่อนพระ เพราะตายไปจะเป็นเปรต ห้ามซดน้ำแกงปลายช้อน เพราะน้ำแกงจะลวกปาก ห้ามนั่งกินข้าวตรงประตูบ้าน เพราะคนจะเห็น ไม่งาม ห้ามขูดข้าวก้นหม้อ เพราะจะทำให้หมอ (ดิน) แตก ห้ามนอนกิน เพราะจะแช่งให้ตัวเองตาย ห้ามกินข้าวให้เงาทับจานข้าว เพราะจะมองสิ่งสกปรก ก้อนกรวดไม่เห็น เป็นต้น
และยังมีความเชื่อที่เกี่ยวกับสตรีเช่น หากมีประจำเดือนห้ามกินมะเฟือง คนท้องห้ามกินอาหารรสจัด เพราะลูกจะหัวล้าน ห้ามหญิงสาวกินขนมขันหมาก เพราะจะไม่มีคนมาขอ เป็นต้น
เมื่อมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าในทุกพื้นที่ทั่วไทยจะยังคงมีคติความเชื่อในเรื่องของการกินหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยอันเนื่องมาจากยุคสมัยเปลี่ยนไป อีกทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามา อาหารก็มีให้เลือกมากขึ้นความเชื่อต่างๆ ก็จะดูเป็นเรื่องงมงาย
สำหรับเรื่องนี้ อาจารย์นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ อาจารย์ประจำหลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ให้ภาพว่า คงไม่ต้องถามถึงความเชื่อกับเด็กยุคใหม่ เพราะกับอาหารไทยบางอย่างก็ไม่รู้จัก ทำไม่เป็น เนื่องจากความสะดวกสบาย อาหารสำเร็จรูปที่เข้ามา วัฒนธรรมต่างๆ จึงเลือนหายไป หากลองนึกภาพในอดีตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมายังเห็นภาพของเสียงโขลกน้ำพริก และกลิ่นปลาทอด กลิ่นกับข้าวลอยคละคลุ้งตลบอบอวนไปทั่วหมู่บ้าน แต่ตอนนี้หายไปหมดแล้ว
“อยากให้คนไทยถอยหลังกลับมาคิดว่าวัฒนธรรมการกินไม่ได้อยู่ที่ปากเราคนเดียว แต่จะสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมทั้งหมดของประเทศเรา จึงอยากให้กลับมาส่งเสริมการทำกับข้าวกินกันเองภายในครอบครัว เพราะจะส่งผลต่อเรื่องของสังคมที่ทำให้ครอบครัวได้มีโอกาวอยู่ร่วมกัน ในเมื่อเราสามารถแบ่งเวลาส่วนใหญ่มาให้กับการออกกำลังกายได้ ก็ควรแบ่งเวลามาเพื่อนั่งกินข้าวร่วมกันของคนในครอบครัวเช่นกัน” อ.นิพัทธ์ชนก ฝากทิ้งท้าย