xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ประมงละเลยส่งผลพะยูนถูกล่าส่งสิงคโปร์แล้วกว่า 10 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – ชาวประมงต่างถิ่น ลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย แถบเกาะลิบง อ.กันตัน ล่าพะยูนส่งตลาดสิงคโปร์ รวมถึงเต่าทะเล และปะการังได้รับความเสียหาย ขณะนี้พะยูนถูกล่าไปแล้วกว่า 10 ตัว เจ้าหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ ละเลยในหน้าที่ ชาวประมงพื้นบ้านต้องดูแลกันเอง

วันนี้ (22 มี.ค.) นายอิสมาแอน เบนสะอาด แกนนำกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง และเครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา ได้พบชาวประมงพื้นบ้านจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากจังหวัดสตูล เข้ามาลักลอบทำประมงแบบผิดกฎหมายในหลายลักษณะ เช่น การลักลอบระเบิดปลาในบริเวณหินกอง หรือบริเวณบ้านปลาแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ของทะเลตรัง ซึ่งเป็นการร่วมมือกระทำประมงที่ผิดกฎหมายร่วมกัน ระหว่างชาวประมงจากต่างถิ่น กับชาวประมงที่เคยทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้จุด จนส่งผลให้ปะการังและปลาตัวเล็กๆ ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ก็ยังพบการลักลอบวางอวนปลากระเบน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายกับพะยูนและเต่าทะเล รวมทั้งการลักลอบวางเบ็ดราไว เพื่อล่าพะยูนไปขาย โดยเฉพาะเบ็ดราไว และอวนปลากระเบนนั้น ทางจังหวัดตรังได้เคยออกประกาศเป็นเครื่องมือหวงห้ามในทำประมง อีกทั้งยังถือเป็นเครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อพะยูนและเต่าทะเลด้วย จนทำให้พะยูนต้องตายไปลงไปแล้วถึง 25 ตัว ขณะเดียวกัน ก็ยังพบการระเบิดปลาในบริเวณหินกอง หรือบ้านปลา แหล่งปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดของท้องทะเลตรัง รวมทั้งยังพบการลักลอบวางอวนชักขนาดใหญ่ ระยะทาง 1-2 กิโลเมตรด้วย

สำหรับชาวประมงที่เข้ามาล่าพะยูนในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำชนิดนี้อาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง แต่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ที่เดินทางไกลมาจากจังหวัดสตูล ซึ่งชุดปฎิบัติการเฉพาะกิจเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ฉก.) จังหวัดตรัง ในส่วนที่เป็นตัวแทนชาวบ้านนั้น เคยพบชาวประมงแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ด้วยตนเอง โดยมีลักษณะการแต่งกายคล้ายๆ กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคงทำไปเพื่อต้องการที่จะตบตาชาวบ้าน แต่พวกตนไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะไม่มีอำนาจ จึงได้แต่ขอร้องให้กลับออกไปจากพื้นที่เท่านั้น

นายอิสมาแอน กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงสำหรับชาวบ้านในพื้นที่อีกอย่างหนึ่งก็คือ หากพบพะยูนตายในขณะที่ตัวยังสดอยู่ ก็จะรีบแล่เอาเนื้อนำมาทำอาหาร ในส่วนของกระดูกก็นำไปฝังดินไว้ เพื่อรอวันขุดขึ้นมานำไปขายให้กับผู้รับซื้อ ซึ่งจากการตรวจสอบภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน พบซากเต่าทะเลตายไปแล้วจำนวนมาก ส่วนพะยูนก็ถูกล่าตามใบสั่งไปแล้วกว่า 10 ตัว โดยมีราคาขายพะยูนในตลาดมืด ทั้งตัวราคา 50,000 บาท เฉพาะกระดูกราคา 30,000 บาท หรือเฉพาะเขี้ยวคู่ละ 30,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเอาไปใช้สำหรับการผลิตยาบำรุง และทำเครื่องรางของขลัง โดยตลาดรับซื้อรายใหญ่จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

สาเหตุที่พะยูนถูกล่าอย่างหนักในช่วงระยะนี้ และพบการทำประมงแบบผิดกฎหมายในจังหวัดตรังอย่างครึกโครม เพราะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหย่อนยานในการทำงาน ขณะที่ชุด ฉก.ประมง ซึ่งรวมกำลังมาจากหลายหน่วยงาน เช่น ประมง ตำรวจ ศูนย์ป้องกันปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่า และเจ้าหน้าที่อุทยาน ขณะนี้ก็ไม่มีการออกปฎิบัติหน้าที่แล้ว คงเหลือเฉพาะกำลังของชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากนัก เพราะไม่มีอำนาจ

นอกจากนั้น ทางจังหวัดตรัง ก็ไม่มีนโยบายในการดูแลที่จริงจัง และเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ทำให้ขาดความต่อเนื่องของชุดทำงานด้านการอนุรักษ์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมามากมายในขณะนี้

นายร่าเหม แก้วทอง อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93/1 หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวประมงจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ เพื่อล่าพะยูนกันอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการวางเบ็ดราไว บางส่วนก็ลักลอบวางอวนปลากระเบน แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยจับกุมตัวได้ ซึ่งเคยทราบข้อมูลว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีพะยูนติดเบ็ดราไวถึง 2 ตัว และได้ถูกนำไปขายที่จังหวัดยะลา หรือส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ ส่วนชาวบ้านบางรายที่พบพะยูนตาย ก็จะยังแล่เนื้อนำไปทำอาหารด้วย

สำหรับกระดูกพะยูนจะมีการนำไปฝังดินเอาไว้ รอวันขุดเพื่อขายในราคาตัวละ 20,000-30,000 บาท โดยเฉพาะเบ็ดราไว และอวนปลากระเบน ขณะนี้ถือเป็นอันตรายต่อพะยูน และเต่าทะเลเป็นอย่างมาก ในส่วนของเต่าทะเลที่ก่อนหน้านี้เคยพบเห็นเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากถูกอวนปลากระเบน และเบ็ดราไวคราวละหลายๆ ตัว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็เคยพบซากมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้เต่าทะเลค่อยๆ ร่อยหรอไปจนแทบจะสูญพันธุ์แล้ว เพราะมีชาวบ้านบางส่วนส่งนำไปขายให้กับร้านอาหารทั่วไป ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท

นายสมชาย พ่วงบุรี อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 6 บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อบต.เกาะลิบง ก็กล่าวว่า เคยรับแจ้งพบการลักลอบวางเบ็ดราไว และวางอวนปลากระเบน แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบ คนร้ายจะไหวตัวหนีไปเสียก่อน ขณะนี้จึงพยายามติดตามหาข่าวเพื่อหวังจะจับกุมให้ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมากนัก ในส่วนของพะยูนที่ตายและกลายเป็นข่าวมี 2 ตัว แต่กรณีที่มีผู้ลักลอบจับไป หรือนำไปแล่เนื้อทำอาหาร และเอากระดูกไปขายนั้น ตนไม่สามารถระบุจำนวนได้ เพราะไม่มีใครยอมให้ข้อมูล แต่เชื่อว่าจะต้องมีอย่างแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น