สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ ปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบระดับอนุบาลสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ขณะที่ระดับประถมโรงเรียนมีศักภาพแตกต่างกัน ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนระดับมัธยมศึกษามีปัญหาเด็กขาดความตั้งใจเรียน หลักสูตรไม่เหมาะสม แนะปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับวัยเด็ก
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วุฒิสภา เปิดเผยว่า
จากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเรื่องใดที่เป็นปัญหาเร่งด่วนควรได้รับการแก้ไขก่อน ดังนั้น สวนดุสิตโพล มสด.จึงได้สำรวจความคิดเห็นของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องปัญหา อุปสรรคของการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา
โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,257 คน สามารถสรุปได้ว่า ระดับชั้นอนุบาล ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วนอันดับ 1 คือ เรื่องสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ การเรียนการสอนไม่เพียงพอ มากถึง 25.55% รองลงมาคือปัญหาเรื่องเด็กยังเล็กไม่สามารถดูแลตัวเองได้ คิดเป็น 23.36%, ปัญหาครูมีน้อยไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ 18.25%, ปัญหาเรื่องศักยภาพของครูผู้สอนและการเตรียมพร้อมในการสอนของครู 17.52% และปัญหาการเรียนรู้พัฒนาการของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน 15.32%
สำหรับระดับชั้นประถมศึกษา ปัญหาอันดับ 1 คือเรื่องศักยภาพของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน และขาดความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย 24.67 รองลงมาคือปัญหาที่เด็กขาดความกระตือรือร้นไม่ให้ความสำคัญในการเรียน 21.33% ,ปัญหาเรื่องเด็กขาดทักษะ คิดไม่เป็น และไม่รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง 19.33, ปัญหาเรื่องครูไม่มีเวลาดูแลเด็กได้เต็มที่ และภาระงานมีมาก 18.67% และปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา และความรู้ความสามารถของครูผู้สอนไม่ตรงกับวิชาที่สอน 16.00%
ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปัญหาอันดับ 1 คือ เรื่องที่เด็กไม่ตั้งใจเรียน ขาดความสนใจ และสมาธิในการเรียนมีน้อย24.85% รองลงมาคือปัญหาเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก 21.30% , ปัญหาเรื่องสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ 18.93 , ปัญหาเรื่องสภาพสังคม และสื่อต่างๆที่มอมเมาเยาวชนจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง 18.35% และปัญหาที่เด็กสนใจกิจกรรมมากเกินไปจนไม่มีเวลาทบทวนบทเรียน16.57%
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหานั้นเห็นว่า เรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขอันดับ 1 คือ ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก มากถึง 26.82% รองลงมาต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ 23.46%, ควรมีสื่อการเรียนการสอนที่เพียงพอและเหมาะสมกับวิชาที่เรียน 16.76%, ควรเริ่มต้นจากพื้นฐานทางครอบครัว ปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ 16.76 และควรสอดแทรกเนื้อหาด้านคุณธรรม จริยธรรมให้มากขึ้น 16.20%
รศ.ดร.สุขุม กล่าวว่า ตนจะนำผลสรุปดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ในวันที่ 14 ส.ค.นี้เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน หลังจากนั้นจะเชิญหน่วยงานผู้รับผิดชอบมารับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขก่อนนำกลับไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการฯจะติดตามผลเป็นระยะๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง