กรมสุขภาพจิต หนุนห้ามเด็ก-เยาวชน เล่นเกมออนไลน์เกินวันละ 2 ชั่วโมง เสนอบรรจุเข้ากฎกระทรวงของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ 2551 ควบคุมพฤติกรรมเล่นเกมเกินพอดี
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการควบคุมปัญหาอันเนื่องมาจากการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน เสนอสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ให้กำหนดจำนวนชั่วโมงการเล่นเกมต่อวันของเด็กและเยาวชนให้ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง ในส่วนที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยี หรืออำนาจตามกฎหมาย ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ในปี 2549 ที่ นพ.ชาญวิทย์ พรนพดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะ ได้สำรวจเด็กนักเรียนชั้นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา จำนวน 4,900 คน จากทุกภูมิภาครวม 14 จังหวัด พบว่า เยาวชนที่เล่นเกมมากกว่ามีปัญหาการติดเกมมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า เยาวชนกลุ่มที่ชอบเล่นเกมแต่ไม่เกิดปัญหา จะเล่นเกมเฉลี่ยวันละ 1.9 ชั่วโมง กลุ่มที่คลั่งไคล้การเล่นเกม และเริ่มมีปัญหา จะเล่นเกมเฉลี่ยวันละ 2.4 ชั่วโมง และกลุ่มที่ติดเกม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามาก จะเล่นเกมเฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมง
“กรมสุขภาพจิต จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าว เสนอต่อ สวช.ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ โดยหวังให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม พิจารณาบรรจุเข้าในกฎกระทรวง ตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ต่อไป เพื่อสังคมไทยจะได้มีเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมที่เกินความพอดีของเด็กและเยาวชนอีกมาตรการหนึ่ง” นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว