xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาพร้อมสอบ “เหวง” โทร.ยินดี “ขวัญชัย” หลังพันธมิตรอุดรฯ ถูกกุ๊ยไล่ฆ่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปก.
“แพทยสภา” พร้อมรับเรื่องร้องเรียนกรณี “หมอเหวง” ยินดีมีคนบาดเจ็บ ขัดจรรยาแพทย์ เข้าคณะอนุกรรมการจริยธรรม หากมีผู้มาร้องเรียนแต่ไม่ชี้ผิดถูก เกรงเป็นการชี้นำ แนะหมอการเมือง อย่าแสดงตนว่าเป็นหมอ เลิกใช้คำนำหน้าว่า นพ. ชี้ทำเสื่อมเสียส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงหมอด้วย

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯได้กล่าวบนเวทีว่า นพ.เหวง โตจิราการ ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดี ในเหตุการณ์กลุ่มคนรักอุดรฯ บุกทำร้ายพันธมิตรฯ ที่ จ.อุดรธานี โดยกลุ่มพันธมิตรฯเตรียมที่จะยื่นให้แพทยสภาตรวจสอบพฤติกรรมของ นพ.เหวง ถือเป็นการขัดต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพแพทย์หรือไม่ นั้นว่า หากมีผู้มาร้องเรียนต่อกรณีดังกล่าว ก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการจริยธรรมอยู่แล้ว แต่ผิดถูกอย่างไรคงไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่อยากให้กลายเป็นการชี้นำ

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีไหนที่หมอจะดีใจที่เห็นคนบาดเจ็บ เพราะหมอมีหน้าที่ในการดูแลรักษาคนป่วย และยิ่งไม่มีที่ทำให้คนดีกลายเป็นคนป่วย แต่กรณีนี้ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพ ดังนั้น อยากฝากให้นักการเมืองอย่าแสดงตนว่าเป็นหมอ หากหมอไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ก็ควรใช้ชื่อคำนำหน้าว่านาย ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า นพ.หรือ หมอ หรือสื่อเองก็ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าเป็นหมอ ใช้ชื่อธรรมดาก็ได้ เพราะไม่ได้ใช้หลักในการรับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหมือนกับยศของทหาร ตำรวจ แม้แต่แพทย์ในแวดวงราชการเอง เวลาที่ลงนามคำสั่ง ยังต้องถอดคำว่า นพ.ออกแล้วใช้คำว่านายเลย นอกจากนี้ การที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ยังใช้นำหน้าชื่อว่าเป็นหมอ เมื่อผู้นั้นมีพฤติกรรมไม่ดี อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของหมอทั้งหมดได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดพิเศษขึ้นตรวจสอบ เพื่อสามารถทำงานได้รวดเร็วไม่เยินเย่อ เนื่องจากคณะอนุกรรมการจริยธรรมที่มีวาระการประชุมปกติอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ส่วนกรณี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกยื่นตรวจสอบ เนื่องจากอภิปรายไมไว้วางใจ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า มีพฤติกรรมที่อาจเป็นโรคจิต เป็นการขัดต่อจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่นั้น ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ตีความส่งคำตอบกลับมาแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น