“กษมา” เผยผลการ ถก ผอ.เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ พบเด็กเรียนต่อ ม.1 และ ม.4 เพิ่มขึ้น หลังจัดหลักสูตรอิสลามศึกษา แต่เด็ก ป.1 จำนวนลดลง เร่งไปดูว่าเกิดจากอะไร ให้ส่งครู นักเรียน เรียนต่อมาเลเซีย พร้อมจับคู่พัฒนาโรงเรียนไทย-มาเลย์ ด้าน “สมเกียรติ” แนะไม่ควรโวย หลัง ร.ร.เอกชน งัดกลยุทธ์จัดรถรับส่ง คอมพ์ให้เด็ก เสนอให้ไป ร.ร.พัฒนาคุณภาพดี ไม่ย้ายไปเรียนเอกชน เตรียมเคลียร์ครูช่วยราชการเพื่อนำตำแหน่งมาบรรจุครูอัตราจ้าง
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวภายหลังการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ ที่จังหวัดสตูลว่า การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อการประชุมการรับนักเรียนและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การบริหารงานบุคคล การจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพของ นักเรียน ครู และ บุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา การจัดการศึกษาปฐมวัย และการร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย เพื่อนำผลการประชุมครั้งนี้ทำเป็นแผนการศึกษาสู่การปฏิบัติในการศึกษา 2552
จริงๆ เราประชุมหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้พบว่ามีนักเรียน ม.1 และ ม.4 มาเรียนกับเราเพิ่มขึ้น บางเขตเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางเขตทรงตัว อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถือว่ามีนักเรียนมาเรียนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนนักเรียนชั้น ป.1 กลับลดลง จำนวนที่ลดลงตนไม่แน่ใจว่าเกิดจากจำนวนประชากรลดลงหรือไม่ เพราะแนวโน้มประชากรทั่วประเทศลดลง จึงตกลงกันว่าแต่ละเขตกลับไปเจาะลึกเป็นรายโรงว่ามีเด็กในพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์เข้าเรียนเท่าไหร่ แล้วมาเรียนกับ สพฐ. และเอกชน จำนวนเท่าไหร่
พร้อมกันนี้ให้ทำกิจกรรมชุมชน โดยพบปะพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อซักถามว่าต้องการให้จัดการเรียนการสอนลักษณะใด เราจะได้ดำเนินการปรับปรุงการเรียนการสอนให้โดนใจผู้ปกครองมากขึ้น และเพื่อจูงใจให้เด็กมาเรียนมาเรียนเพิ่มขึ้น จึงปรับปรุงกายภาพให้สดใสน่าเรียน เพิ่มเติมหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม โดยให้นักเรียนเรียนสามัญควบคู่ศาสนา ซึ่งผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับการปูพื้นฐานด้านศาสนาเมื่อมาเรียนโรงเรียนของรัฐ อย่างไรก็ดี เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าว สพฐ.ยังให้มีการวิจัยควบคู่กันไปด้วย คาดว่า 2-3 ปี น่าจะมีความชัดเจนและวิธีนี้ยังสามารถสำรวจเด็กตกหล่นให้มาเรียนมากขึ้น
คุณหญิงกษมา บอกว่า ช่วงที่มีโครงการรณรงค์เยี่ยมบ้านนักเรียน ขณะนั้นเราไม่ค่อยมั่นใจ ยอมยกเว้นว่าต้องไปเยี่ยมบ้านเหมือนที่อื่นก็ได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ยากลำบาก แต่ครูก็ออกเยี่ยมบ้านนักเรียน และได้ฟังข้อมูลครูก็ออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียนและได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี จึงให้ไปจำแนกปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการเสนอให้จัดกิจกรรมโรงเรียนต่างสังกัดด้วยไม่ใช่ จัดเฉพาะโรงเรียน สพฐ.อย่างเดียว ให้โรงเรียนเอกชน โรงเรียน ตชด. โรงเรียนสาธิต มาร่วมกิจกรรม เช่นการแข่งกีฬา เข้าค่าย แข่งขันทางวิชาการ ร่วมกัน เพื่อเป็นสานสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน และนักเรียน ซึ่งจะกระตุ้นให้ ทุกคนใกล้ชิดกันมากขึ้นแล้วมีการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ดีแก่กัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอให้มีการพัฒนาครูที่สอนไม่ตรงวุฒิ เขาบอกว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 20 โดยเสนอว่าควรตกลงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อให้คนกุล่มไปศึกษาต่อเพื่อให้ได้ ป.บัณฑิตย์ หลังจากนั้น ควรมีวิธการให้มีการติดตามผลควบคู่ไปด้วย รวมทั้งมีการพูดถึงระบบดูแลครูอัตราจ้าง ต้องมีอบรมอย่างน้อย 4 ครั้ง นอกจากพัฒนาคุณภาพครูแล้วยังให้เพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอนภาษาไทยให้มากขึ้น อาจปรับเปลี่ยนสื่อ วิธีการสอน
คุณหญิงกษมา กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาไทย มาเลเซีย ขณะนี้เราส่งครูไปอบรมการเรียนการสอนที่มาเลเชีย กว่า 100 คน ให้ศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนอิสลามศึกษา สื่อเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ยังส่งนักเรียน 58 คน เข้าไปเรียนโรงเรียนยอดนิดยม เน้นวิชาการเข้ม อิสลามเข้ม
“ข้อเสนอจากพื้นที่ว่าควรส่งผู้บริหารโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ไปดูโรงเรียนชั้นนำของเขา ว่าจัดการเรียนการสอนอิสลาม ควบคู่ วิชาการเข้ม ได้อย่างไรบ้าง และต้องการให้ส่งผู้บริหารไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก กับมหาวิทยาลัยชายแดน ทำให้มีความสัมพันธ์ ได้ภาษา ความรู้ และให้มีการจับคู่โรงเรียนพัฒนาชายแดนมาเลเซียด้วย”
ถามว่าเด็กเรียนจบ ป.6 มักจะเลือกเรียนต่อกับโรงเรียนเอกชนมากกว่า คุณหญิงกษมา กล่าวว่า เพราะผู้ปกครองต้องการส่งลูกเรียนด้านศาสนา เรื่องนี้ต้องปูพื้นฐานให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า จบ ป. 6 ไม่พอแล้ว ต้องเรียนต่อให้สูงขึ้น สู่สายอาชีพ หรือเรียนต่อระดับอุดมศึกษา และต้องชี้แจงว่าขณะนี้เราจัดหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม ได้ใบรับรองวุฒิทางศาสนา เพื่อสนองความต้องการของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม การไปเรียนกับ สช.ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย สช.ก็ปรับหลักสูตรสามัญ จึงเป็นทางเลือก 2 ทาง ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนใด จะได้เรียนสามัญคู่ศาสนา
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า สช.มีวิธีจูงใจผู้ปกครอง และนักเรียน โดยบอกว่ามาสมัครเรียนจะมีรถรับ ส่ง มีคอมพิวเตอร์ นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมกับ สช.และเคารพการตัดสินใจของผู้ปกครองและเด็ก ถ้าต้องการแข่งขันจะถามว่าคุณภาพของเราดีรึยัง หากคุณภาพดีเด็กอยากเรียนอยู่กับเรา
“เราไม่ควรโวยวายที่ สช.บริการรถรับส่งนักเรียน มีคอมพ์ให้เด็กเรียน เขาจัดซื้อคอมพ์ได้รวดเร็วเพราะการตัดสินใจซื้อ พัฒนาคุณภาพขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร ในขณะที่ ร.ร.สังกัดสพฐ.ต้องรองบประมาณ ตรงนี้ละที่เราอยากเปิดโอกาสให้โรงเรียนรับบริจาคได้ เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เมื่อคุณภาพดีเด็กจะเรียนเราเอง”
นายสมเกียรติ กล่าวถึงสวัสดิภาพครูว่า ที่ประชุมเรียกร้องขอ 9 ขั้นสำหรับผู้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติราชการ และ 7 ขั้น สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้อีก ซึ่งเรื่องนี้ ขอกลับไปดูรายละเอียดในมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะตามปกติครูจะได้รับแค่ 6 ขั้น ยกเว้นกรณีครูจูหลิง ที่ได้ 7 ขั้น
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้บรรจุครูอัตราจ้างเป็นข้าราชการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งการบรรจุครูดังกล่าวยังติดปัญหาตรงที่ข้าราชการย้ายไปช่วยราชการที่อื่นๆ แต่ไม่ได้ย้ายชื่อออกไป จึงไม่มีตำแหน่งบรรจุ อย่างไรก็ตาม จะเคลียร์เรื่องนี้เพื่อบรรจุครูอัตราจ้าง