xs
xsm
sm
md
lg

อย.เตือนเครื่องสำอางอันตราย 23 ยี่ห้อ ผสมสารปรอท เผลอใช้อาจหน้าพัง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.ประกาศรายชื่อเครื่องสำอางอันตรายอีก 23 ยี่ห้อที่มีสารห้ามใช้ คราวนี้พบว่าส่วนใหญ่ผสมสารประกอบของปรอท เตือนระวังอย่าซื้อมาขายหรือนำมาใช้ อาจทำให้แพ้ ระคายเคือง ถึงขั้นเสียโฉมได้


ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามแหล่งจำหน่าย เช่น ร้านค้า และแผงลอย ในเขตกรุงเทพฯ ยโสธร และสมุทรปราการ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค พบเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้รวม 23 ยี่ห้อ ตรวจพบกรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ สารประกอบของปรอท และไฮโดรควิโนน

โดยผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้พบว่าเครื่องสำอางอันรายเหล่านี้ส่วนใหญ่ลักลอบผสมสารประกอบของปรอท ซึ่งสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด ทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง และเป็นสาเหตุทำให้ผิวหน้าถึงขั้นเสียโฉมได้ จึงขอเตือนประชาชนอย่าซื้อมาใช้เด็ดขาด สำหรับรายชื่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

เครื่องสำอางที่ตรวจพบไฮโดรควิโนน ได้แก่ (1) นิวแคร์ โลชั่นปรับสภาพผิว (2) D.C. White โลชั่นกันแดดกันฝ้า ปรับสภาพผิวจากแสงแดด (3) Sandnady NIGHT CREAM ครีมฝ้า/กระ วันที่ผลิต 01/06/07 (4) N (สรรพคุณแก้ฝ้าฝังลึก หน้าหมองคล้ำ)

เครื่องสำอางที่ตรวจพบสารประกอบของปรอท ได้แก่ (5) MV WHITENING CREAM ครีมแก้สิว-หน้าใส ผลิตโดยบริษัท เอ็มวี คอสเมติกส์ จำกัด 47/2 ม.3 ต.เกษตรพัฒนา อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร (6) KL ครีมนมผึ้งผสมโสม (7) นิว แคร์ ครีมสมุนไพรขมิ้น ครีมบำรุงผิวสมุนไพรขมิ้น ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย นิวแคร์ บิวตี้ (8) JIAO NUO บาชิ ครีมกลางคืน วันที่ผลิต 2007/08/26 (9) JIAO NUO FAYLACIS ครีมกลางคืน วันที่ผลิต 2007/04/19 โดยลำดับที่ 8 และ 9 ผลิตโดย บริษัท ห้วยโจเขื่อนเอิน คอสเมติก จำกัด ประเทศจีน นำเข้าโดย บริษัท ไจโอ นูโอ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 302/20 ซ. ลาดพร้าว 71 ถ. ลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ (10) Silver Angel Face Day Cream (11) Gold Angel White Night Cream ซึ่งลำดับที่ 10 และ 11 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท คิงส์เฮิร์บ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 688/73-75 ม.7 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ วันที่ผลิต 21-08-07 (12) ครีมหน้าใส ทาก่อนนอน (13) ครีมไพร (14) ครีมสมุนไพร น้ำนมข้าว NT (15) ครีมบำรุงผิวมุขหน้าขาว (ตลับขาว-น้ำเงิน) (16) ครีมมะเขือเทศ แก้สิว หน้าขาว N-T (ตลับสีชมพู) (17) ครีมสมุนไพรชาเขียว OR ครีมกลางคืน (ตลับสีเขียว) (18) ครีมแครอท แก้ฝ้า-กระ (ตลับสีส้ม) (19) ครีมนมแพะผสมสาหร่าย N-T (ตลับสีเขียว)

เครื่องสำอางที่ตรวจพบไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก ได้แก่ (20) นิวแคร์ ครีมประทินผิวลดรอยด่างดำ (21) NEW CARE ครีมประทินผิวลบรอยด่างดำ (22) เอ็ม.วี.ไวท์เทนนิ่งครีม ครีมบำรุงผิวหน้า กลางคืน ผลิตโดย บริษัท เอ็ม.วี.คอสเมติคส์ จำกัด (23) นิวแคร์ ไวท์ไนท์ครีม ครีมบำรุงผิวหน้ากลางคืน ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย นิวแคร์ บิวตี้

ภญ.วีรวรรณ
กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางที่พบสารอันตรายมักให้รายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุผู้ผลิต ครั้งที่ผลิตและวันเดือนปีที่ผลิต การเลือกซื้อจึงควรระมัดระวัง และสังเกตฉลากเป็นลำดับแรก ฉลากที่ถูกต้องจะต้องเป็นภาษาไทย มีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วิธีใช้ ชื่อที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิ การซื้อควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อเพราะคำโฆษณา สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางมาขาย ขอให้ซื้อจากผู้ที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน หากเจ้าหน้าที่ อย.ไปตรวจและผู้ขายไม่สามารถนำหลักฐานการซื้อขายมาแสดงได้ ผู้ขายจะต้องมีความผิดเช่นเดียวกับผู้ผลิต ส่วนบทกำหนดโทษ ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจะต้องถูกระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับรายชื่อเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้ที่ อย.ได้ประกาศไปทั้งหมด ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ www.fda.moph.go.th คลิกไปที่ “กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง” และ “เครื่องสำอางอันตราย” ซึ่งจะมีทั้งชื่อเครื่องสำอางพร้อมรายละเอียดและรูปภาพแสดงไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น