องค์การอนามัยโลก เตรียมสำรวจงานด้านป้องกันไม่สูบบุหรี่ในไทย พ.ย.นี้ ชูเป็นต้นแบบประเทศที่ประสบความสำเร็จ
ดร.อาร์มันโด เปรูก้า ผู้ประสานงานการเสริมสร้างประสิทธิภาพการลดการสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ตนได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมกับรัฐบาลไทยในการประเมินผลการทำงานด้านการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ โดยได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสำรวจการทำงานด้านการป้องกันไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทย ในโครงการเอ็มเพาเวอร์ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบผลสำเร็จด้านการป้องกันไม่สูบบุหรี่
ดร.อาร์มันโด กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลก มีประเทศสมาชิกจำนวน 159 ประเทศ ที่ได้ร่วมลงนามในกรอบอนุสัญญาการไม่สูบบุหรี่ (WHO FCTC) ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ปัจจัยที่ประเทศต่างๆ ไม่นำข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาไปใช้จริง เป็นเพราะในประเทศเหล่านั้น มีการเสริมสร้างการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ไม่มากพอ ดังนั้น การเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่มีความก้าวหน้าในการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่จึงมีความจำเป็น ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะทำการสำรวจใน 2 ประเทศ คือ ประเทศบราซิล และไทย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีประสบการณ์ยาวนานในการรณรงค์ และมีองค์ความรู้ที่สามารถมาใช้เป็นแม่แบบ นำร่องรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ในประเทศกลุ่มสมาชิกที่ร่วมลงนามในอนุสัญญา
ดร.อาร์มันโด กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทยจะมีการทำแผนสำรวจในเดือน พ.ย.นี้ ครอบคลุม 6 ด้าน คือ 1.อัตราการป่วย เจ็บ ตายที่เกิดจากบุหรี่ 2.มาตรการด้านภาษี 3.การสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ 4.การให้การดูแลรักษา 5.การออกแบบฉลากคำเตือนบนซองบุหรี่ 6.การห้ามการโฆษณาว่ามีหลักเกณฑ์ อย่างไร และจะมีการดำเนินการในอนาคตอย่างไร ซึ่งองค์การอนามัยโลกทำการสำรวจในบราซิล เสร็จแล้วเมื่อประมาณเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายงาน และรออนุมัติจากรัฐบาลบราซิลเพื่อนำมาเผยแพร่ โดยในปีหน้าจะทำการศึกษาในประเทศตุรกีด้วย
“ปัญหาเรื่องบุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางต้องมองว่าปัญหาบุหรี่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่ต้องมองทุกมิติ ทั้งสังคม และเศรษฐกิจ จึงจะทำให้การรณรงค์มีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีการทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและภาคสังคม ซึ่งประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจังสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และการปฎิบัติตามกรอบอนุสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.อาร์มันโด กล่าว
เมื่อถามว่า การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในประเทศกำลังพัฒนา มีการแทรกแซงมาน้อยแค่ไหน ดร.อาร์มันโด กล่าวว่า อุตสาหกรรมบุหรี่ เป็นตัวสร้างปัญหา และจะไม่ยอมรับว่า อุตสาหกรรมบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา และจะไม่ยอมที่จะให้อุตสาหกรรมบุหรี่เข้ามาหาผลประโยชน์จากการเจ็บป่วยจากประชาชน
ดร.อาร์มันโด กล่าวด้วย แม้ว่าตอนนี้การนำกรอบอนุสัญญาไปใช้จะยังไม่เต็มรูปแบบ แต่ยืนยันว่าในหลายประเทศมีความก้าวหน้าในการควบคุมป้องกันอย่างมาก และหวังว่าการศึกษาในไทย และบราซิล และอื่นๆ ตามมาอีก 3-4 ประเทศ จะได้ผลออกมาในทางที่ดีและสามารถนำไปเป็นแม่แบบใช้กับสมาชิกในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ต่อไป