xs
xsm
sm
md
lg

กีฬาเพื่อเด็กพิเศษ “ความรัก ความเข้าใจ” อยู่เหนือ “ชัยชนะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าที่ของ ฮักเกอร์ ในการรอรับน้องๆ ที่เส้นชัย
“ขอชนะสักครั้ง หากไม่ได้ดังที่หวัง ก็ขอให้ได้มุ่งมั่น กล้าแข่งขันต่อไป”

เมื่อเสียงคำปฏิญาณในการแข่งขันกีฬาประโยคนี้สิ้นสุดลง เชื่อได้ว่าผู้คนที่มีโอกาสได้อยู่ ณ สนามกีฬา 700 ปีเมืองเชียงใหม่ คงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน นั่นคือ ‘ขนลุก’ ด้วยเห็นความตั้งใจของตัวแทนนักกีฬาที่เป็นผู้กล่าว ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจทำให้คำกล่าวประโยคนี้มีคุณค่า อันทรงพลัง เนื่องเพราะคำปฏิญาณนั้นมาจากนักกีฬาผู้พิการทางสมองและปัญญา หรือ กลุ่มเด็กพิเศษนั่นเอง


ความประทับใจนี้เกิดขึ้นใน ‘การแข่งขันกีฬาสี Special Sport หรือ การแข่งขันกีฬาเพื่อเด็กพิเศษ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Red Bull Spirit ที่จับมือกับ สเปเชียล โอลิมปิคแห่งประเทศไทย โดยการนำเอาทักษะการกีฬามาพัฒนาผู้พิการทางสมองและปัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิเศษได้พัฒนาศักยภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ เรียนรู้ทักษะชีวิต และทำกิจกรรมร่วมกับสังคมเพื่อสร้างความภูมิใจในตัวเอง และที่สำคัญเพื่อต้องการความเข้าใจ สร้างการยอมรับแก่สังคม

** กีฬา ตัวปลุกพัฒนาการเด็กพิเศษ
สำราญ แช่มช้อย ผู้อำนวยการด้านกีฬา คณะกรรมการสเปเชียล โอลิมปิคแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเรื่องของเด็กที่มีความบกพร่องทางปัญญา ซึ่งมีระดับไอคิวต่ำกว่า 85 ลงมาโดยรูปแบบของการแข่งขันแบ่งเป็น 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ กรีฑา ฟุตบอล และบอชชี ที่ต้องคัดเลือกเด็กให้สอดคล้องกับกีฬาแต่ละประเภท ส่วนความสำคัญของการใช้กีฬามาเป็นสื่อในการสร้างพัฒนาการกลุ่มเด็กพิเศษนี้มาจาก การที่กีฬาจะมีกฎ ระเบียบ ในตัวเอง ซึ่งเด็กที่พิการทางสมองเมื่อได้ฝึกซ้อม ได้แข่งขัน จะทำให้เขารู้จักกฎกติกา เป็นการพัฒนาการเรียนรู้แก่ตัวเขาเอง ทั้งยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทุกรูปแบบให้เกิดขึ้น

แน่นอนว่าการนำกีฬามาใช้ในการเสริมสร้างสิ่งที่พวกเขาขาดหายไปนั้นมีความสำคัญ และได้ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติได้รับประโยชน์ เหมือนอย่างที่ พรผกา สุภาวัฒน์ คุณแม่ของ น้องต้นไม้ - ด.ช.ณัฐชานนท์ เทียมผลา อายุ 7 ขวบซึ่งเป็นออทิสติกยืนยันให้ฟังว่า เมื่อก่อนลูกจะเป็นอารมณ์รุนแรง โวยวาย เสียงดัง เมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ โดยเป็นมาตั้งแต่ 2 ขวบ หลังจากนั้นได้ไปฝึกว่ายน้ำ วิ่ง ซึ่งพบว่าระยะหลังจากการที่ลูกได้เล่นกีฬา จะช่วยให้เขามีการยับยั้งอารมณ์ เป็นคนที่พูดง่ายขึ้น เชื่อฟังคำสั่ง และมีอารมณ์ที่แจ่มใส มากขึ้น

“ตอนนี้รู้สึกว่าสังคมเริ่มเข้าใจเด็กกลุ่มนี้แล้ว ซึ่งเราเองเวลาไปไหนมาไหนก็ไม่รู้สึกอายใครที่มีลูกผิดปกติ เวลาเจอใครที่ถามก็กล้าที่จะบอกว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ และเขาสามารถอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งอยากฝากไปถึงครอบครัวที่มีคนกลุ่มนี้อยู่ให้ดูแล เอาใจใส่ ไม่ดุ ด่า ทำโทษเมื่อเขาทำผิด แต่ก็ไม่ใช่ตามใจ คอยกระตุ้นให้เขาพูด สร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ และสำหรับคนเลี้ยงดูเองต้องมีความอดทนและคอยให้กำลังเขาอยู่ตลอดเวลา” คุณแม่น้องต้นไม้ แนะนำ

** ความรัก เอาใจใส่ สิ่งที่ต้องเติมเต็ม
แน่นอนว่า เมื่อการแข่งขันกีฬาของกลุ่มเด็กพิเศษนี้ไม่เหมือนกับการแข่งกีฬาทั่วไป ทำให้เกิดกลุ่มพี่เลี้ยงอาสาเพื่อนักกีฬาผู้พิการทางสมองและปัญญาเกิดขึ้น ที่จะเป็นผู้ช่วยในการดูแลเด็กๆ ทั้งยังสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้สังคมได้รับรู้ว่าเด็กๆ กลุ่มนี้สามารถอยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้

น้ำ –ปฏิมาพร เรืองเจริญ นศ.ชั้นปีที่ 3 จากมทร.กรุงเทพ บอกว่า การอาสามาเป็นพี่เลี้ยงเพราะต้องการอยากใกล้ชิดกับน้องๆ กลุ่มนี้ ซึ่งทำให้ทราบว่าพวกเขามีความสดใส ยิ้มแย้มเหมือนเช่นเด็กทั่วไป เพียงแค่การสร้างความเข้าใจ การสื่อสาร อาจเป็นปัญหาบ้าง ในส่วนการดูแลนั้นเป็นไปในด้านการช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เช่น การดูแลเรื่องต่างๆ ทั้งนำไปแจ้งชื่อแข่งกีฬา นำไปเข้าห้องน้ำ ตอนแรกเด็กก็ยังงง แต่เมื่อเริ่มชินพวกเขาก็จะเข้ามาหาเอง เมื่อได้มีโอกาสมาสัมผัสเด็กๆ เหล่านี้ อยากให้รู้ว่าพวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับเราได้ เพียงแค่เราให้โอกาสอย่ามองว่าเขาไม่มีสติปัญญาเหมือนคนปกติ

เช่นเดียวกับอาสาสมัคร 2 หนุ่มจาก วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ อย่าง เพื่อน – ธนเสฏฐ์ กุลพัฒน์มงคล และ ดิว – พงศกร เจตน์วิทยาชาญ ที่บอกว่า ตอนแรกที่อาสามานึกว่าจะน่าเบื่อ ไม่สนุก แต่เมื่อมาแล้วทำให้ความคิดเปลี่ยนไปทันที เพราะเด็กๆ น่ารักมาก และหน้าที่ที่ได้รับคือเป็น ‘ฮักเกอร์’ หรือคนที่คอยรับเด็กตรงเส้นชัยในการแข่งขันกรีฑา ซึ่งในการแข่งขั้นนั้นเด็กพิเศษจะปฏิเสธการวิ่งเข้าเส้นชัยที่มีเชือกกั้น เพราะเป็นเหมือนสิ่งกีดขวาง ดังนั้นจึงต้องมีพี่เลี้ยงมาคอยเรียก และเชียร์ให้เขาวิ่งมาหา บางคนเมื่อวิ่งเข้ามาจะไม่คำนึงเลยว่าชนะ หรือแพ้ แต่เขาจะเข้ามาหาเพียงแค่ต้องการกำลังใจ และแค่ยกชูนิ้วโป้งให้เขาก็เป็นที่รู้กันถึงกำลังใจที่ดีที่สุด

“ความจริงแล้วเด็กเหล่านี้อยู่เพียงแค่มุมหนึ่งของสังคม ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจ ไม่รับรู้ว่าเป็นอย่างไร และการที่จะสอนในส่วนของพัฒนาการของเด็กพิเศษเหล่านี้ คนที่มารับหน้าที่จะมีสักกี่คน ที่ต้องเสียสละ เพราะต้องเจอกับความยากลำบากกับพัฒนาการของเด็กเอง ซึ่งน่านับถือบุคคลเหล่านี้อย่างมาก และต่อไปเมื่อพวกเขาต้องเติบโตไปอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเราได้ หากคนในสังคมคิดเช่นนี้ประเทศคงน่าอยู่ขึ้น” เพื่อน ให้ภาพ

ด้านหนุ่มดิว สะท้อนให้เห็นอีกว่า เด็กพิเศษจะมีลักษณะของคนขาดความอบอุ่น และต้องการการเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ สังเกตได้จากการที่พวกเขาวิ่งเข้ามาหาตรงเส้นชัย เขาจะโถมเข้ามากอดอย่างมุ่งมั่นทั้งๆ ที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกันในเวลาอันสั้น เขาจะให้ความรู้สึกที่ดีกับคนที่คอยให้กำลังใจ คอยดูแล ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่พวกเขาควรจะได้รับจากครอบครัว และผู้คนในสังคม

“ในความคิดแล้วสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษอาจได้รับความเห็นใจจากสังคมบ้าง แต่กับผู้พิการอื่นๆ สังคมยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าหลายองค์กรได้ เปิดโอกาสทางการทำงานให้แก่พวกเขา แต่เมื่อทำเข้าจริงๆ เขาก็ยังถูกกดดันจากการทำงานอยู่ดี จึงอยากให้สังคมมีความจริงใจกับกลุ่มผู้พิการ ที่มีความพิการทุกรูปแบบให้ยืนในสังคมได้ และสำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งที่อาจสร้างรอยยิ้มแห่งความสุขให้กับเด็กๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เด็กๆ จึงได้รับความสุข ความอบอุ่นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบให้ความสำคัญ และสนับสนุนในส่วนนี้ให้มากขึ้น” ดิว ฝากทิ้งท้าย

...เมื่อชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ ความแตกต่างในสังคมจึงเกิดขึ้น การให้การยอมรับ จึงเป็นเหมือนสิ่งที่กลุ่มเด็กพิเศษร้องขอ ถึงแม้กีฬาแห่งรอยยิ้ม ความอบอุ่น จะจบลงไป แต่กีฬานี้เองที่พวกเขาต้องการสื่อให้รู้ว่า “ฉันพยายาม...ไม่ย่อท้อ ไม่ใช่เพื่อเหรียญทองหรือเสียงปรบมือ แต่เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า... ในโลกใบนี้ยังมีฉันอยู่” เท่านั้นเอง

** สำหรับผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมดีๆ ได้ที่ www.redbullspirit.org
อาสาสมัครช่วยเหลือน้องๆ ในการแข่งขัน
มุ่งมั่นตั้งใจโดยไม่หวังผลแพ้ชนะ
ชัยชนะไม่สำคัญเท่ากับรอยยิ้มแห่งความสุข
การฝึกทักษะ กลไก ของร่างกาย
พรผกา สุภาวัฒน์ และน้องต้นไม้
สำราญ แช่มช้อย
น้ำ –ปฏิมาพร เรืองเจริญ
เพื่อน-ธนเสฏฐ์  กุลพัฒน์มงคล
ดิว-พงศกร เจตน์วิทยาชาญ
กำลังโหลดความคิดเห็น