เอ่ยถึงภาคอีสาน...หลายคนคงนึกไปถึงภาพความแห้งแล้ง ผืนดินที่แตกระแหง และการไหล่บ่าเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงของคนหนุ่มสาวในชนบท แม้ว่าวันนี้ผืนดินอีสานจะไม่ได้แล้งไร้เท่ากับในอดีต แต่ปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมือง ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่และเด็กเล็กอยู่เพียงลำพังยังคงมีอยู่ ทุ่งนาหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้าง ปราศจากการหว่านไถเพราะขาดแรงงาน
แต่วันนี้ ชุมชนเล็กๆ 3 แห่ง รอบเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้คนในชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาการทำเกษตรแบบยั่งยืน ฟื้นฟูวิถีชีวิตที่รักท้องถิ่น เกื้อกูลต่อธรรมชาติ และเหนืออื่นใด พวกเขาต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในแผ่นดินบ้านเกิดกลับคืนมา
ลูกหลานเรา พัฒนาบ้านเรา
ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นมากว่า 80 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแนวไม้และทิวเขาริมเขื่อนอุบลรัตน์ นามว่าหมู่บ้าน “โคกกลาง” หมู่บ้านเก่าแก่ที่เป็นต้นกำเนิดของหมอลำพื้นบ้านชื่อดังของอีสานที่สืบทอดต่อกันมาเกือบร้อยปี
แต่วันนี้ เสียงขับกล่อมลำนำตำนานพื้นถิ่นอีสานอย่าง “คูรูนางอั้ว” ที่เคยดังแว่วอยู่ยามเย็นหลังเสร็จจากหว่านไถในไร่นากลับมาถึงบ้านค่อยๆ เลือนหาย แทนที่ด้วยเสียงบิดเร่งเครื่องของรถมอเตอร์ไซค์ที่โฉบเฉี่ยวในหมู่บ้านจนถึงยามดึก โทรศัพท์มือถือ ตู้เกม และโต๊ะสนุกเกอร์ ถูกนำเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่ตามติดเป็นเงา บ้านโคกกลางไม่ต่างจากหมู่บ้านชนบทอีกนับหมื่นนับแสนในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตทางประเพณีวัฒนธรรมที่นับวันมีแต่จะสวนทางกับความเจริญของวัตถุ
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ก็คือ ช่องว่างทางความเข้าใจระหว่างเยาวชนกับครอบครัวและชุมชนของตน เพราะต่างรับรู้ข่าวสารข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ต่างกัน ความคาดหวังของครอบครัวและชุมชนต่อเยาวชนที่คาดหวังให้เยาวชน “ประสบความสำเร็จ” ในชีวิตอย่างไม่สมจริง เช่นค่านิยมที่ปลูกฝังให้ลูกหลานโตขึ้นเพื่อเป็น “เจ้าคนนายคน” ปัจจุบัน เยาวชนในชนบทถูกทำให้คิดและเชื่อว่าชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ร่ำรวย คนหนุ่มสาวจึงออกจากชุมชน ละทิ้งการทำเกษตร ไปหางานทำในเมือง
สำเนียง วงพิมพ์ อดีตพระเอกแห่งคณะหมอลำพื้นบ้าน “เพชรประพันธ์” และวงดนตรี “ศิลปะสังข์ทอง” คืออีกผู้หนึ่งที่เฝ้าจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านของเขามาหลายปีแล้ว สำเนียงเล่าว่า เมื่อก่อนนั้น บ้านโคกกลางมีคณะหมอลำพื้นบ้านมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อ 80 ปีก่อน โดยเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนเมืองขอนแก่นที่มีชื่อ ชีวิตของหมอลำกับหมู่บ้านจึงผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก ทุกคนต่างมีความสามารถร้องรำได้หมด เพราะมีอยู่ในสายเลือด
โดยวงจรของคณะหมอลำนั้นจะเริ่มขึ้นหลังจากฤดูกาลทำนาสิ้นสุด ตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาที่ต้องมาซ้อมเรื่อง ไปจนออกพรรษา ปีใหม่จนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนที่จะตระเวนเดินสายออกแสดงตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง แต่ในระยะหลังความนิยมการแสดงหมอลำพื้นบ้านเริ่มลดน้อยลง ขณะที่คนแสดงกลับหายากขึ้น เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ไม่สนใจศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้อีกต่อไป ทำให้คณะหมอลำของหมู่บ้านโคกกลางเริ่มซบเซา ไม่รุ่งโรจน์เหมือนเช่นในอดีต
หากแต่สำเนียงก็มิได้อยู่นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเขา สำเนียงลุกขึ้นมาเป็นแกนนำรวบรวมเยาวชนที่ทำกิจกรรมกับภาคีต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยเขาเสียสละที่ดินส่วนตัวในหมู่บ้านจำนวน 3 ไร่ 2 งาน เพื่อเป็นสถานที่จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เพื่อชุมชนอยู่ดี” ให้เป็นที่เรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในชุมชน 3 หมู่บ้านรอบเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเบื้องต้นตั้งใจจะทำให้ที่นี่เป็นสถานที่เรียนรู้ด้านเกษตรพอเพียง
หากแต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ในช่วงแรกสำเนียงก็ต้องฝ่าฟันเสียงครหาจากคนในชุมชน บางคนกล่าวหาว่าเขาทำอะไรเกินตัว บริจาคที่ดินเพื่อเอาหน้า บ้างก็ทำนายว่าเขาจะไปไม่รอด
“บางคนเขาเห็นผมทำตรงนี้ (สร้างศูนย์ฯ) เขาก็ว่าผมทำเพราะเป็นผู้รับเหมา ผมยอมรับว่าเป็นผู้รับเหมาจริง แต่ผมเป็นผู้รับเหมาสร้างคน” สำเนียงกล่าวด้วยความมุ่งมั่น ซึ่งคนที่เขาสร้างก็ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน หากแต่เป็นเด็กๆ และเยาวชนลูกหลานในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงรอบเขื่อนอุบลรัตน์นั่นเอง
กลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ จึงเน้นเยาวชนที่อยู่ในอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เยาวชนเหล่านี้ผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานแบบมีส่วนร่วม การสร้างภาวะผู้นำ และการเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้หรือยุวกระบวนกรมาแล้ว
เสียงจากแกนนำเยาวชน
“ความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนมีความสุขกับการทำงาน มีเงินมีความสุข แต่ผมยังยึดติดกับการทำนา ทุนที่นาคือมรดกที่ปู่ย่าตายายตกทอดไว้ให้ผม” ศักดา เหลาเกตุ ผู้นำเยาวชนแห่งศูนย์การเรียนรู้ชาวดินกล่าวถึงการที่เลือกเรียนต่อผ่าน ม.สุโขทัยธรรมาธิราช พร้อมกับเรียนรู้ทำการเกษตรพอเพียงที่หมู่บ้าน แทนที่จะออกไปเรียนหนังสือในเมืองอย่างเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนในชุมชน
ศักดา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน ร่วมกับพี่ๆนักพัฒนา และพี่สำเนียง
“ผมอยากมีสถานที่จัดกิจกรรม จัดอบรมที่ใกล้ชุมชนของตัวเอง แล้วให้เยาวชนและคนในหมู่บ้านเข้ามาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน อยากมีกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้ทำร่วมกัน เพราะเดี๋ยวนี้มีน้อยมากที่เยาวชนจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน อยากจะทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างเช่นบ้านดิน ห้องสมุด ทำให้น้องๆ และเพื่อนๆ รู้ว่าบ้านดินที่พวกเราร่วมกันสร้างเป็นที่เรียนรู้ได้ อยากให้เขาซึมซับตรงนี้ แล้วก็คอยชวนทำกิจกรรม หรือถ้ามีคอมพิวเตอร์ มันก็อาจจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น นอกจากนี้อยากจะทำศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นแปลงเกษตร อาจจะเป็นเกษตรพอเพียงหรือเกษตรผสมผสาน ที่ไม่ใช่แค่คนในชุมชน แต่รวมไปถึงคนนอกพื้นที่ด้วย”
นอกจากนี้เขาอยากจะให้ผู้ใหญ่ล้มเลิกค่านิยมที่ว่า เมื่อลูกหลานเรียนจบแล้วต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ “ผมอยากเห็นครอบครัวอยู่ด้วยกัน ผมอยากเห็นค่านิยมของชาวบ้านเปลี่ยนไป ถ้าผมได้มีหน้าที่เป็นผู้นำหมู่บ้าน ผมก็จะปูพื้นฐานกับเด็กก่อนเลย เพราะถ้าจะเปลี่ยนเขาปุ๊บปั๊บ มันก็คงเป็นไปไม่ได้”
อนุรักษ์ ศักดิ์ขวา หรือเสือ ซึ่งกำลังเรียนชั้นม. 6 โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เปิดใจถึงความรู้สึกหลังจากได้ร่วมเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับศูนย์การเรียนรู้ชาวดินว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน เขารู้สึกว่าตัวเองใจเย็น อยู่กับตัวเองมากขึ้นระดับหนึ่ง ขณะที่ชีวิตในการเรียนกับการทำงานเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะผลจากการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งมีกิจกรรมกับเยาวชนในหมู่บ้าน ใส่ใจกับคนอื่น เช่น เพื่อน พ่อแม่ ครู เข้าไปมีความสัมพันธ์ที่ดี
“พฤติกรรมหนึ่งตอนอยู่บ้านก็คือ ช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ใช้หลักการดำเนินชีวิตของตัวเองก็คือ ไม่ตามเพื่อน บางครั้งที่รู้สึกว่าเพื่อนทำไม่ดี เราจะแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว ด้านหนึ่งเราก็จะสามารถเรียนรู้เรื่องที่อยู่รอบตัวเราเอง อยากให้คนในหมู่บ้านเปิดรับกับตัวกิจกรรมของพวกเรา และอยากให้น้องในหมู่บ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ผมอยากจะให้เขาตระหนักถึงประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน ส่วนในเรื่องของศูนย์การเรียนรู้ นอกจากจะมีห้องสมุดไว้อ่าน และก็อยากสอนคอมพิวเตอร์ให้น้องๆ อีกด้วย”
ทางด้านวรรินทร์ โสภา หรือโอเล่ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ซึ่งทำจากดินให้กลายเป็นบ้านดินได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกคน และยังมีแปลงเกษตรที่เพิ่งเริ่มทำด้วยกันในกลุ่มของพวกเขา เพื่อที่จะให้เป็นรูปเป็นร่าง ถึงแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องที่น้อยนิด แต่ก็มีผู้นำในหมู่บ้านที่สนใจงานของพวกเขาและพร้อมที่จะช่วยเหลือ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขยายการทำงานพัฒนาชุมชนมากขึ้น
“หนูไม่ได้อยากเป็นกำนัน อบต. หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็ง ด้วยการเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ที่อาจจะทำแปลงเกษตรอยู่ที่บ้านกับครอบครัว ไปพร้อมกับศูนย์การเรียนรู้ของเราในชุมชน ถ้าเราทำได้ตรงจุดนี้ โดยพื้นฐานของคนที่ทำนาทำการเกษตรอย่างพวกเรา เขาก็คงอาจจะหันมาสนใจตรงจุดนี้บ้าง อีกเรื่องหนึ่งคงเป็นเรื่องของชุมชนในหมู่บ้านที่ติดสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นปัญหามากขึ้นในวัยรุ่น เราจึงต้องหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำกับเยาวชนในชุมชน ถ้าเราสามารถสร้างให้พวกเขารู้จักว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญได้ ก็เชื่อว่าความสุขที่ออกมาจากใจก็จะปรากฏให้เราเห็นได้ในวันหนึ่ง แม้เงินทองเราอาจจะไม่มีมากมายแต่เราก็อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินเดือน”
ทวีศักดิ์ สุวรรณชะนะ ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน กล่าวว่า หลังจากการทำงานร่วมกับเยาวชนกลุ่มนี้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาชัดเจนมากขึ้น กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ต้องการอยู่ในชุมชน ไม่อยากเข้าไปเรียนในเมือง บางคนเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเปิดที่สามารถเรียนและทำงานอยู่ที่บ้านได้ บางคนมีความฝันอยากเป็นผู้นำในชุมชน ศักดาประกาศชัดเจนว่าอยากเป็นกำนัน
ปัจจุบันเยาวชนกลุ่มนี้กำลังทำศูนย์เรียนรู้ของพวกเขาเองในชุมชน มีห้องประชุมบ้านดินที่รองรับผู้เข้าร่วมได้ประมาณ 30 คน และมีห้องสมุดบ้านดิน 1 หลัง มีห้องน้ำที่ทำจากดิน 1 หลัง บนที่ดิน 3 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันพวกเขาได้ลองปลูกผัก และก็ได้นำมากินกันแล้ว
ศูนย์การเรียนรู้นี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดสารพิษและเป็นต้นแบบของการจัดการระบบนิเวศที่เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และต้องการให้ศูนย์แห่งนี้เป็นธนาคารสมองที่รวมความรู้ไว้ที่นี่ ทั้งที่เป็นห้องสมุด อินเทอร์เน็ต และเสริมทักษะด้านต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น หมอลำ
ที่ตำบลนี้ยังมีป่าชุมชน “พระบาท – ห้วยบง” ที่อยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้ เป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลมากว่า 30 ปี ชาวบ้านอยากพัฒนาให้เป็นที่เรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้กับเด็กและเยาวชน ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้นำชุมชนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และสนใจงานพัฒนาศักยภาพเยาวชน รวมทั้งสนับสนุนให้โอกาสเยาวชนได้เข้ามาร่วมงานพัฒนาของชุมชนทั้งกำนัน อบต. และคณะกรรมการหมู่บ้าน เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจึงสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น
และเยาวชนกลุ่มนี้ยังได้รวมกับกลุ่มเพื่อนๆ ในชุมชนที่อำเภอภูเวียง จัดกิจกรรมธนาคารสมองด้วยการสอนหนังสือน้องๆ ในชุมชน การพาน้องอ่านหนังสือ เล่านิทาน และเล่นกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้พวกเขายังช่วยกันทำบ้านดินเพิ่มเติมเพื่อทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขาเอง และช่วยกันปลูกผักในศูนย์การเรียนรู้ด้วยความภาคภูมิใจ เยาวชนเหล่านี้จึงมีคุณลักษณะของผู้นำ มีทักษะในการสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว มีจิตใจรับใช้ชุมชนและรักสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความสามารถที่จะแสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่แกนนำเยาวชนแห่งศูนย์การเรียนรู้ชาวดินกล่าวว่า
“เราไม่สามารถอธิบายให้คนอื่นเห็นด้วยได้ทั้งหมด ซึ่งบางครั้งมันไม่สามารถพิสูจน์ด้วยคำพูดได้ ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ”
ด้วยจิตอาสา
ด้วยตระหนักว่า สิ่งที่พวกเขามีอยู่อย่าง ถิ่นฐานบ้านเกิด ครอบครัวญาติพี่น้อง และทรัพยากรท้องถิ่น คือ ทุนที่แท้จริงและยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน สมาชิกศูนย์การเรียนรู้ชาวดินจึงได้ลงมือสร้างหอประชุม ที่พักและห้องน้ำภายในศูนย์โดยใช้ “ดิน” จากแผ่นดินเกิดของพวกเขาในการก่อสร้าง หากแต่ลำพังตัวสำเนียงและเด็กๆ ในชุมชนเพียงฝ่ายเดียวนั้น คงไม่สามารถทำสำเร็จด้วยตนเองได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะยังขาดแรงกำลังและงบประมาณสนับสนุน “ห้องสมุดบ้านดิน” ของน้องๆ เยาวชนจึงยังห่างไกลจากความเป็นจริง
กระทั่ง โครงการเรดบูลสปิริต (Red Bull Spirit) ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ได้นำพาอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิตทั่วประเทศ มาร่วมกันลงแรงสานฝันน้องๆ ให้เป็นจริง โดยมีอาสาสมัครทั้งที่เป็นกลุ่มนักศึกษา และคนทำงาน บางคนนั่งเครื่องบินมาจากเชียงรายเพื่อมาช่วยสร้างอาคารที่ทำจากดินในวันเสาร์อาทิตย์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน บางคนเหมารถมาเป็นกลุ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะมาลงแรงเพื่อสร้าง “ห้องสมุดบ้านดิน” แล้วพวกเขายังได้เรียนรู้เรื่องราวของเยาวชนในชุมชนชนบท ได้รู้จักความหวัง ความฝัน และความตั้งใจของน้องๆ ในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้
สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ผู้อำนวยการ แผนกกิจกรรมเพื่อสังคมบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กล่าวว่า กระทิงแดงเป็นบริษัทของคนไทย จึงมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่สมาชิกที่ดีของสังคม และอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทย เป็นเวลานับสิบปีที่บริษัทกระทิงแดงได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อของเธอที่เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งในยุคนั้นคำว่า CSR ยังไม่รู้จักเป็นที่แพร่หลายด้วยซ้ำ ซึ่งตรงจุดนี้สุทธิรัตน์มองว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมของคนไทย คือการประยุกต์หลักพุทธศาสนามาใช้มากกว่าจะเป็นแนวคิดเพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่ธุรกิจอย่างที่สังคมตะวันตกนิยม
“เรามีความเชื่อว่าทุกคนมีพลังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สังคม ชุมชน หรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ขอเพียงมีใจที่มุ่งมั่นและพร้อมที่จะลงแรงทำ การเสียสละเพื่อผู้อื่น เริ่มจากตัวเราเอง และมีพลังมากขึ้นเมื่อเราทำร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม บริษัทกระทิงแดงขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงใจอาสา เป็นพลังสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น อย่ามองว่าเราคือสปอนเซอร์ มาซับพอร์ตเสร็จก็จบ เพราะเวลาเราให้อะไรใครต้องให้แล้วไม่ทำลาย ให้แล้วก่อเกิด การช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน คือช่วยให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วม การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต้องพัฒนาจิตใจด้วย” ผู้บริหารกระทิงแดงกล่าวทิ้งท้าย