ตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาจราจาย่านธุรกิจ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการแต่ละด้านติดตามดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ทั้งการจัดการแท็กซี่ รถโรงเรียน รถตู้หรือรถโดยสารระยะสั้นรับส่งคนจาก Hub การรณรงค์ให้ใช้จักรยาน
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจราจรและลดมลพิษบริเวณย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง โดยมี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ตำรวจนครบาล สมาคมวิชาชีพ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ผู้ประกอบการภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนขนาดใหญ่ย่านถนนสุขุมวิท สีลม สาทร ร่วมหารือ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวคิดการร่วมมือกันของทุกส่วนในลักษณะโครงการร่วมกันจัดสถานที่ของห้างสรรพสินค้าเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียน ในช่วงเวลาเดินทางตอนเช้า 06.00-08.00 น. โดยนั่งรถส่วนตัวหรือรถไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ มาเปลี่ยนถ่ายการเดินทางบริเวณห้างสรรพสินค้า จากนั้นนำนักเรียนขึ้นรถตู้ หรือรถขนส่งระยะสั้นไปยังโรงเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ ครู อาจารย์ และนักเรียนรุ่นพี่มาอำนวยความสะดวก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะพื้นที่จอดรถยังไม่ได้ใช้งาน โดยจะมีโครงการนำร่องที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นที่แรกในการแก้ปัญหาจุดรับ-ส่งนักเรียน ส่วนโรงเรียนย่านสามเสน และฝั่งธนบุรี-สาธร ต้องมีการหารือกับผู้ปกครองและทางโรงเรียน เพื่อหาจุดจอดรถให้เป็นระเบียบ อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกันภายในสัปดาห์นี้ และคณะอนุกรรมการแต่ละชุดที่ตั้งขึ้นนั้นจะมีการหารือกันในสัปดาห์นี้เช่นกัน
นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่ไม่มีผู้โดยสารได้หารือถึงการควบคุมจุดจอดแท็กซี่ การบังคับใช้กฎหมายจุดจอดแท็กซี่เพื่อให้แท็กซี่จอดในจุดที่กำหนด รวมถึงเทคโนโลยีวิทยุเรียกแท็กซี่ การรณรงค์วินัยจราจร นอกจากนั้นยังหารือกันในเรื่องของรถตู้ หรือรถบัสระยะสั้นที่จะมีจุดรวมรถเหล่านั้นในลักษณะ จุดเชื่อมต่อการเดินทาง(Hub) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนที่โดยสารระบบขนส่งมวลชนต่างๆ หรือขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาจอด โดยอาจเป็นการวิ่งวนในพื้นที่ย่านต่างๆ ส่งประชาชน ที่ต้องทำงานในบริเวณนั้น ส่วนการดำเนินการส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยาน กทม.ได้เพิ่มจุดจอดจักรยานทั่วพื้นที่กว่า 2,500 จุด สามารถจอดได้ 30,000 คัน บนถนน 120 สาย ซึ่งจะได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมันแพงในขณะนี้
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภายใน 1 สัปดาห์ ระหว่างกทม.โดยหน่วยงานในสังกัด กับตำรวจนครบาล ตัวแทนสมาคม ผู้ประกอบการเพื่อกำหนดแนวทางและกำกับการดำเนินการ ให้เป็นรูปธรรม ให้สถาบันพัฒนาเมืองเป็นศูนย์กลางประสานงาน โดยจะมีคณะอนุกรรมการในลักษณะคณะทำงานติดตามและทำงานเกี่ยวกับการเดินทางด้วยทางเลือกในแต่ละเรื่อง ประกอบด้วย เรื่องรถแท็กซี่ รถโรงเรียน รถตู้ รถจักรยาน จุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Hub) เบื้องต้นที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งผู้ประกอบการ เจ้าของอาคารได้ให้ความร่วมมืออย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังจะมีการพิจารณากฎหมายอาคาร เพื่อให้มีการเชื่อมต่อสะพานระหว่างอาคาร การเชื่อมต่อสกายวอล์ก ให้ประชาชนใช้รถยนต์ในการเดินทางให้น้อยที่สุด