สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยเผยขบวนการคุกคามต่อสุขภาพโดยผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจาก ‘บารากู่’ และ “บุหรี่ชูรส” ปรากฏโฉม ระบุมีความเคลื่อนไหวที่จะนำ “บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” เข้ามาในประเทศไทย
นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันฯ กล่าวว่า มีความเคลื่อนไหวที่จะนำ “บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” (Electronic หรือ E-cigarettes) เข้ามาในประเทศไทย บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์นี้เริ่มประดิษฐ์คิดค้นในประเทศจีน โดยบริษัท Ruyan และได้แพร่หลายไปทั่วโลกในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ‘บุหรี่’ ชนิดนี้ไม่มีใบยาสูบเป็นสารผสม มีแต่สารนิโคติน และสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลซึ่งบรรจุในรูปแท่ง (cartridge) ควบคุมโดยอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว และเทคโนโลยีอะตอม
เมื่อผู้สูบสูด ‘บุหรี่’ ชนิดนี้ ลมจะถูกดูดผ่านเข้าไป การผสมโพรไพลีนไกลคอลเข้าไปก็เพื่อให้ดูคล้ายควันบุหรี่ ชุดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีแบตเตอรี่สำหรับอัดไฟไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานเมื่อเจ้าของต้องการสูบ แท่ง(cartridge) แต่ละแท่งบรรจุนิโคติน 18 มก. เทียบกับบุหรี่ทั่วไป 1 มวนจะมีนิโคติน 1.2 มก.
ทั้งนี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์นี้อ้างความดีของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์คือ ไม่มีควันที่มีกลิ่น ลมหายใจผู้สูบไม่มีกลิ่น ฟันไม่เหลือง ไม่มีควันบุหรี่มือสอง ที่สำคัญคือไม่มีสารทาร์ สารพิษ หรือสารก่อมะเร็งและไม่มีเปลวไฟ ซึ่งข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง เพราะบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์หทัย กล่าวว่า ผู้ผลิตกล่าวความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะสารนิโคตินในแต่ละแท่งที่ผลิตออกมานั้นมีมากถึง 18 มก.และไม่สามารถทราบได้ว่าผู้สูบจะได้นิโคตินเข้าไปในตัวจำนวนมากน้อยเท่าไรในการสูบแต่ละครั้งหรือแต่ละวัน ที่สำคัญคือ นิโคตินเป็นสารเสพย์ติดที่มีฤทธิ์สูงเท่าฮีโรอีน และโคเคน เป็นสารที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดอย่างกว้างขวางในหลายอวัยวะ
นอกจากนั้น ในระยะหลังผู้ผลิตได้นำสารชูรสเข้ามาผสมด้วย โดยจะมีสารสังเคราะห์จากผลไม้ สมุนไพร และอื่นๆ แสดงว่าต้องการ ‘ล่า’ เยาวชนอย่างแน่นอน
ประธานสถาบันฯ สรุปว่า ผลิตภัณฑ์นี้ยังมิได้ผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบ จึงไม่ควรอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเด็ดขาด