“ใบตอง” วิเศษพิชิตแผลไหม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านบูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันใช้ปิดแผลไฟไหม้แทนผ้าก๊อซ ไม่ติดแผลเวลาแกะล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว พบผู้ป่วยพึ่งพอใจ 100% ทั้งยังประหยัดเงินค่าทำแผลได้เท่าตัว
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข นางอรทัย ไพรบึง พยาบาลวิชาชีพ 7 ศูนย์สุขภาพชุมชนปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จ.ศรีสะเกษ ได้นำเสนอผลงานวิชาการในสาขานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เรื่อง ใบตองวิเศษพิชิตแผล แคร์ความรู้สึก โดย นางอรทัย กล่าวว่า ได้นำใบตองมาใช้ในการทำแผลแทนการใช้ผ้าก๊อซ โดยจะนำมาปิดแผลให้กับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ในระดับเบื้องต้น คือ ระดับ 1 และระดับ 2 ทำให้เวลาล้างแผล ผู้ป่วยจะไม่ทุกข์ทรมานจากการที่ผ้าก๊อซติดกับแผล ซึ่งใบตองมีคุณสมบัติที่ดีเป็นผิวมัน ไม่หยาบ หรือขรุขระเหมือนใบไม้ชนิดอื่น ที่สำคัญคือทำให้แผลหายเร็วกว่าปกติ เพราะเมื่อไม่มีการกระชากดึงแผล เซลล์ที่กำลังเติบโตของแผลก็จะไม่ถูกทำลาย อีกทั้งใบตองมีความชุ่มชื้นที่แผลไฟไหม้ต้องการ
นางอรทัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการศึกษาความพึงพอใจสำหรับผู้รับบริการในการปิดแผลไหม้ด้วยใบตอง จำนวน 37 คน ในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ 100% ซึ่งบอกตรงกันว่าไม่ปวดแสบแผล เย็นสบาย เวลาแกะแผลไม่เจ็บ และอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่ติดเชื้อนั้น เป็น 0% ทั้งนี้ หากใช้ผ้าก๊อซการหายของแผลจะประมาณ 5-10 วัน แต่แผลที่ใช้ใบตองจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วันเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ต้องใช้น้ำเกลือในการแกะแผล ซึ่งปกติใช้ประมาณ 50-100 ซีซี เมื่อรวมต้นทุนในการพยาบาลบาดแผลไฟไหม้จากต้นทุนการใช้ผ้าก๊อซจำนวน 911 บาท แต่หากใช้ใบตองมีต้นทุนเพียง 385 บาทเท่านั้น
“ในระดับศูนย์สุขภาพชุมชนไม่สามารถเบิกผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันไม่ให้ผ้าก๊อซติดแผลได้ จึงได้นำแนวคิดการปิดแผลไหม้จากตึกศัลยกรรมการดูแลไฟไหม้ของโรงพยาบาลศิริราชมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งใบตองเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ อย่างผู้ป่วยคนหนึ่งเจอน้ำมันเบนซินราดขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการทุกข์ทรมานมากเวลาล้างแผล เพราะแผลติดกับผ้าก็อซ จนวันที่ 3 ที่ล้างแผลได้มากหากเราจึงได้ใช้ใบตอง ทำให้เขาไม่ต้องเจ็บปวดอีกต่อไป” นางอรทัย กล่าว
นางอรทัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นจะต้องนำใบตองมาล้างทำความสะอาด จากนั้นก็ตัดใบตองตามขนาดของแผล และทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% จึงนำมาปิดแผลแล้วปิดตามด้วยผ้าก๊อซ เพื่อให้ไม่ลื่นหลุด อย่างไรก็ตาม ใบตองก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับแผลที่อยู่ในบริเวณที่ระบายเหงื่อได้ดี เช่น แขน ขา ลำตัว แต่ไม่สามารถพันบริเวณรักแร้ ข้อมือ ข้อพับต่างๆ ได้
“หากคนทั่วไปในเมืองต้องการจะใช้ใบตองควรทำความสะอาดให้ดี หากนำมาปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ควรทาว่านหางจระเข้หนา 2-5 มิลลิเมตรแล้วนำใบตองมาปิด ถือเป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบูรณาการกับเทคนิคการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ซึ่งผู้รับบริการมีความพึงพอใจในรูปการให้บริการแนวใหม่ควรมีการขยายผลสำเร็จของนวัตกรรมสู่เครือข่ายบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ” นางอรทัย กล่าว