xs
xsm
sm
md
lg

จะอยู่ (สุข) อย่างไร เมื่อเป็นสะเก็ดเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แสดงอาการที่เล็บ
“หากพูดถึงสถานการณ์ของโรคสะเก็ดเงิน หรือเรื้อนกวางในวันนี้ ต้องบอกว่าคนรู้จักโรคนี้กันมากขึ้น ต่างตื่นรู้ว่าแท้จริงแล้วโรคผิวหนังชนิดนี้สาเหตุหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม และไม่ใช่โรคติดต่อ และผู้ป่วยก็ตื่นตัวและใส่ใจโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากเป็นแล้วไม่สามารถหายขาด แต่ก็มียารักษาให้ผิวหนังเรียบเป็นปกติได้” พญ.รัศนี อัครพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารสถาบันโรคผิวหนัง ให้ภาพถึงสถานการณ์ของโรคสะเก็ดเงิน โรคที่เป็น 1 ใน 5 ของโรคผิวหนังในคนไทย โดยอาการของผู้ป่วยจะมีผื่นหนา แดงนูน มีสะเก็ดเป็นสีเงิน ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง
พญ.รัศนี อัครพันธุ์
**อยู่อย่างเท่าทัน

ล่าสุด พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรเป็นโรคนี้ และจากการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของสถาบันโรคผิวหนังพบว่าในระยะเวลา 3 ปีมีผู้ป่วยมาขอเข้ารับการรักษาแล้วกว่าหมื่นคน แต่ยังไม่มีการแยกแยะเพศ ช่วงวัย หรืออาชีพ ทำให้สัดส่วนของผู้ป่วยระหว่างชายหญิงจึงมีโอกาสเป็นได้เท่าๆ กัน

แต่สำหรับคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินนั้น พญ.รัศนี อธิบายว่า แนวโน้มของคนที่มีพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มีโอกาสที่จะเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถ้ามีพ่อหรือแม่เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ และหากมีพี่น้องเป็ ก็อาจจะมีโอกาส 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ อาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ มิใช่ว่าจะต้องเป็นทุกคน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญ คือ โรคสะเก็ดเงินสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อยู่เรื่อยๆ แต่การกำเริบของโรคนั้นจะต้องมีตัวมากระตุ้น แน่นอนว่า หลักใหญ่สำคัญ คือ ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์ อาการเจ็บไข้ทั่วไป การเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็ว การกินยาบางชนิด หรือผิวหนังได้รับบาดเจ็บจากการขีดข่วน เสียดสี เหล่านี้ล้วนเป็นตัวที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดผื่นได้ทั้งสิ้น

นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ทั้งนี้ จากรูปการณ์แล้ว ดูเหมือนว่า สะเก็ดเงินจะเป็นโรคผิวหนังเท่านั้น หากแท้จริงแล้วก็ยังมีผลกับข้อต่อด้วย โดยผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการปวดข้อเนื่องจากข้ออักเสบร่วมด้วย

นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า สะเก็ดเงินอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ แม้ว่าโรคนี้จะถือว่าเป็นโรคแพ้ภูมิทางผิวหนังชนิดหนึ่ง แต่หากไม่รีบรักษาอาจจะทำให้ข้อหงิกงอ เกิดการอักเสบ จนทำลายกระดูกนิ้วจนกลายเป็นคนพิการได้

“เราพบว่า 20-25 เปอร์เซ็นต์ จะปวดข้ออักเสบพร้อมๆ กับอาการสะเก็ดเงิน แต่ 75-76 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการแสดงทางผิวหนังเกิดขึ้นก่อน โดยข้อจะปวดนิ้วมือข้อบน ปวดหลังส่วนล่าง มีอาการเส้นเอ็นอักเสบ หากรีบรักษาจะป้องกันการพิการ ลดภาวะแทรกซ้อน ลดผลข้างเคียงของยา และคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น” นพ.กิตติ แจกแจง
คนไข้ที่เป็นสะเก็ดเงินทั่วตัว
**อยู่อย่างไรไม่ให้กำเริบ

คำถามที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้ว เราจะอยู่อย่างไรเพื่อให้ชีวิตมีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.รัศนี แนะนำว่า เมื่อสงสัยหรือรู้ว่าครอบครัวมีประวัติเป็นสะเก็ดเงิน ไม่ควรนิ่งนอนใจ หากมีอาการเบื้องต้นที่คิดว่าอาจจะใช่โรคนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยการรักษาก็จะมีตามระดับอาการ และตำแหน่งที่เป็น เช่น ยาเฉพาะที่ อาทิ น้ำมันดินซึ่งราคาถูก ได้ผลดี แต่อาจเห็นผลช้า ยาสเตียรอยด์ที่ได้ผลเร็ว แต่มีผลข้างเคียงเหมาะกับอาการเฉพาะที่อย่างเล็บ ยารับประทานตามอาการ ฉายรังสี หรือการใช้ยาฉีดซึ่งเป็นกรรมวิธีล่าสุดที่ใช้ แต่ราคาค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะไม่ทำให้อาการไม่กำเริบไปกว่าที่เป็นอยู่ หรือให้ผิวคงสภาพปกติได้นานที่สุดคือการมาพบหมอตามนัด และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอันจะทำให้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ เช่น ใส่เสื้อผ้าโปร่ง ไม่รัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ผิวเสียดสีได้ง่าย พยายามอย่าให้มีอะไรขีดข่วนผิว เวลาอาบน้ำใช้สบู่ให้น้อยที่สุด เพราะอาจจะทำให้ผิวแห้งและแตกเป็นขุยได้ง่าย อีกทั้งต้องทายาตามขั้นตอนที่หมอสั่ง และหากรู้ว่าแพ้อาหารที่จะทำให้เกิดผื่นก็ควรหลีกเลี่ยง สิ่งสำคัญควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ อย่าเครียด หมั่นทาโลชั่น ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์เท่านี้สะเก็ดสีเงินๆ และอาการคันก็จะไม่มาเยือนไปนาน
พญ.สมลักษณ์ กาญจนาพงค์กุล
**อยู่อย่างเป็นมิตรถาวร

สำหรับการดำเนินชีวิตเมื่อเป็นสะเก็ดเงินซึ่งถือว่าเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่ง และสภาพจิตใจผู้ป่วยก็สำคัญมากกับการใช้ชีวิต จะอยู่อย่างเข้าใจสายตาที่ต่างมองมาอย่างสงสัยได้อย่างไร เมื่ออาการกำเริบ

พญ.สมลักษณ์ กาญจนาพงค์กุล จิตแพทย์ รพ.ราชวิถี ให้ข้อคิดกับเรื่องนี้ ว่า โดยปกติแล้วเมื่อคนเรารู้ว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้กว่าจะรับสภาพ และยอมรับปรับกับโรคได้ต้องใช้เวลานาน3-6 เดือนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อม แต่หากผู้ป่วยเป็นคนรู้เท่าทันอารมณ์ที่ทั้งดีและไม่ดีได้ก็จะไม่ทำให้เครียดนาน

“จริงๆ แล้วสภาพจิตใจเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่าตัวโรค หากผู้ป่วยมีความเครียด กังวล อาการซึมเศร้าก็ตามมา จากนั้นความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตก็จะเกิด เพราะฉะนั้นก่อนอื่นหากรู้ว่าเป็นโรคเรื้อรังไม่เฉพาะโรคนี้ต้องทำใจ หาทางกำจัดความเครียด ฝึกจิตใจให้สงบ ฝึกทักษะการผ่อนคลายเครียด แล้วเริ่มปรับชีวิตให้สมดุลทั้งการกิน การนอน และออกกำลัง ผู้ป่วยต้องเข้าใจโรคว่ามันไม่ใช่โรคติดต่อ จิตใจมั่นคง” จิตแพทย์ให้ข้อคิด

อย่างไรก็ตาม หนทางที่แน่นอนและดีที่สุดนั้น แพทย์ต่างก็หาทางอย่างสุดความสามารถ แต่ ณ เวลานี้ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาตามแผนการรักษา มาพบแพทย์ตามนัด ไม่เข้าใกล้ตัวกระตุ้นโรค โดยเฉพาะความเครียด เข้าใจว่าสะเก็ดเงินเกิดจากภูมิคุ้มกันผิวหนังบกพร่อง แม้จะหาสาเหตุได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายก็สามารถท้องได้ กระนั้นคนทั่วไปก็ต้องทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นว่าสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ การมองผู้ป่วยอย่างเข้าใจก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเป็นส่วนช่วยให้โรคสงบอยู่ภายใต้ผิวหนังนั้นได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
กำลังโหลดความคิดเห็น