xs
xsm
sm
md
lg

“แล้วใครจะรับผิดชอบ?” หลากความคิด สารพันความเห็นเรื่องความงาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โดย 3 แพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเสวนา “แล้วใครจะรับผิดชอบ?” เผยแพร่ความรู้ด้านความงามและศัลยกรรมตกแต่งหัวข้อทอปฮิต และข้อเท็จจริงจากข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมา

เริ่มที่ รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ กล่าวถึงเรื่อง การใช้เครื่องสำอาง Whitening ว่า “คนไทยติดค่านิยมที่ต้องมีผิวขาว เครื่องสำอางส่วนใหญ่จึงโฆษณาว่าใช้แล้วผิวขาวในรูปแบบต่างๆ ที่เกินความเป็นจริง เช่น ขาวเหมือนดารา, ขาวเด้งดึ๋ง, ขาวเรืองแสง เป็นต้น ทั้งยังมีครีมไม่ได้มาตรฐานที่ขายเกลื่อนตามท้องตลาดอีก ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณก่อนซื้อโดยยึดหลักง่ายๆ คือ 1.ต้องมีชื่อผลิตภัณฑ์ 2.ดูวันที่ผลิตและหมดอายุ 3.ดูปริมาณและวิธีใช้ 4.แหล่งที่มา เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เพื่อที่จะสืบหาต้นตอได้ยามเกิดปัญหาหลังการใช้ และต้องเข้าใจเสียใหม่ว่าไม่มีครีมใดที่สามารถเปลี่ยนสีผิวได้อย่างถาวร ฉะนั้น คำโฆษณาเกินจริงเหล่านั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ส่วนวิธีฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำแล้วทำให้ผิวขาวใส ถือว่าเป็นวิธีที่อันตรายมาก ไม่ใช่การรักษาที่ถูกวิธีแต่เป็นการนำผลข้างเคียงของยานั้นมาใช้ด้านการค้า และคลินิกเสริมความงามที่ให้บริการส่วนใหญ่จะไม่มีอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตเพียงพอในกรณีแพ้ยา จึงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

รศ.นพ.ประวิตร ได้เสริมในเรื่องการแพ้ยาว่า ก่อนอื่นต้องแยกความหมายของผลข้างเคียง และอาการแพ้ยาออกจากกัน ผลข้างเคียง คือ สิ่งที่รู้ว่าจะเกิดเมื่อได้รับยา เช่น กินยาแก้แพ้ ผลข้างเคียง คือ อาการง่วงนอน ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกคน แต่อาการแพ้ยา คือ คนอื่นได้รับยาแล้วไม่เป็นไรแต่เราแพ้ เกิดอาการต่างๆ ไม่ใช่ว่าให้ยาผิด แต่ยากับร่างกายอาจไม่เข้ากัน หรือร่างกายสร้างภูมิไวต่อยานั้นๆ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งภายนอก คือจากการทา และภายในจากการกินหรือฉีด

“วิธีสังเกตหากแพ้ยาสำหรับภายนอก ในรายที่ผิวแพ้ง่าย ผิวหนังบริเวณที่ทายาจะแดง คัน ลอก ส่วนรายที่ไม่แพ้อาจเกิดอาการอื่นๆ ตามมาภายหลัง เช่น สิวอุดตัน เป็นต้น ส่วนการแพ้ยากิน หรือฉีดสังเกตว่าจะเกิดอาการแพ้ เป็นผื่นหรือจุดแดงทั่วตัว วิธีปฏิบัติ คือ หยุดใช้ยา จดจำชื่อยา และพบแพทย์ผิวหนัง จากการสำรวจจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่แพ้ยาประเภทยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ เหตุผลมาจากมักซื้อยากินเองหรือกินยาที่คนอื่นแนะนำ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาที่จัดเป็นชุด แต่ซื้อยาชนิดที่เป็นแผง มีชื่อยากำกับด้านหลัง หรือตามคำสั่งแพทย์ สำหรับคนที่มีประวัติแพ้ยาต้องจดจำชื่อยาที่แพ้ให้แม่นยำ และแจ้งต่อแพทย์ที่รักษาทุกครั้ง”

สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์รับประทานยาสิวแล้วเด็กพิการตามที่เป็นข่าวนั้น นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล ได้ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันยาสำหรับรักษาสิว ใช้แล้วหน้าใส หรือ ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) มีแพร่หลายมากทั้งตามคลินิกความงามหรือแม้แต่ในร้านเสริมสวย ซึ่งยาตัวนี้ใช้รักษาสิวรุนแรง ช่วยให้สิวเกลี้ยงขึ้น ใบหน้ามันน้อยลง สำหรับคนทั่วไปใช้ได้โดยมีผลข้างเคียงในระดับที่ไม่รุนแรง คือ เกิดอาการปากแห้ง, ตาแห้ง, ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ให้คำนวณจำนวนและระยะเวลาในการรับประทาน ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อหรือกินตามเพื่อน แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยาตัวนี้เป็นอันตรายมาก เพราะเด็กในครรภ์มีโอกาสพิการสูง ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรหรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ต้องแจ้งต่อแพทย์ล่วงหน้า ไม่มองข้ามว่าเป็นเพียงยารักษาสิว เพื่อประโยชน์และรับผิดชอบต่อตัวเองที่ดีที่สุด”

นอกจากนี้ พญ.รัชยานี คเณจร ณ อยุธยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งและเลเซอร์ ยังร่วมให้ความรู้ว่า การศัลยกรรมนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่สิ่งปลอดภัย 100% จึงต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดที่สุด อย่างน้อยควรปรึกษาแพทย์ 2-3 คน สอบถามผลที่จะเกิดตามมา เปอร์เซ็นต์ของผลข้างเคียง หากเกิดแล้วสามารถแก้ไขได้หรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น การฉีดโบท็อกซ์ ผลเสียคือได้ผลดีไม่ถาวร ใช้ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ผลดีคือหากไม่พอใจ วันหนึ่งก็จะสลายตัวไปได้เอง ผิดกับการฉีดซิลิโคนในสมัยก่อน ที่หลายปีผ่านไปอาจไหลไปตามส่วนต่างๆ ของใบหน้า เอาออกได้ยาก หรืออย่างล่าสุดกับการศัลยกรรมตกแต่งหัวนมให้เล็กลงซึ่งกำลังเป็นที่นิยมนั้น ผลที่ได้อาจเป็นรูปร่างภายนอกที่สวยงาม แต่ในอนาคตอาจเกิดผลต่อการให้นมบุตร เนื่องจากเกิดแผลเป็นอุดตันท่อทำให้น้ำนมไม่ไหลได้ ฉะนั้น การทำศัลยกรรมจึงไม่ใช่เรื่องแฟชั่น แต่ต้องคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับผิดชอบที่ตัวเองก่อนให้คนอื่นมารับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา

มาถึงตรงนี้ รศ.นพ.ประวิตร ได้ให้คำแนะนำเรื่องการเลือกใช้เครื่องสำอางว่า “เครื่องสำอางหลายชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกับยาทา ที่พบบ่อยคือ ยาทาฝ้า และ Whitening บางตัว หรือส่วนประกอบบางชนิดในเครื่องสำอาง เช่น แอนตี้ไบโอติก และแม้แต่ยาสมุนไพร บางรายเกิดผื่นแดง, ตุ่มน้ำ, รอยด่างดำ, ด่างขาว ซึ่งอาจใช้เวลารักษานานเป็นปีๆ วิธีป้องกันหากสงสัยว่าจะแพ้ง่ายๆ คือ อย่าเพิ่งใช้กับใบหน้า แต่ให้ทดสอบที่บริเวณท้องแขนหรือหลังหู เช้า-เย็น เป็นเวลา 7-14 วัน หรือตรวจสอบรายชื่อสารต้องห้ามได้ใน www.fda.moph.go.th อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากสารตัวใหม่ๆ อาจยังไม่ปลอดภัยนัก จึงไม่ควรทดลองใช้พร่ำเพรื่อในรายที่ผิวแพ้ง่าย”



กำลังโหลดความคิดเห็น