วอนพ่อค้าแม่ค้าอาหารถุงใส่ใจความสะอาดก่อนขาย เผย พบอาหารถุงปนเปื้อนโคลิฟอร์ม ร้อยละ 57.14 ย้ำห้ามใส่สารกันบูด ให้คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค โดยเฉพาะพระสงฆ์ความดันโลหิตสูง เบาหวานรุมเร้า แนะเลือกเมนูชูสุขภาพใส่บาตร
นพ.ประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการเลือกซื้ออาหารถุงอย่างปลอดภัยว่า ปัจจุบันสภาพสังคมไทยเปลี่ยนไป ทำให้ต้องดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเร่งรีบ ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากที่เคยทำอาหารกินด้วยตนเองก็ต้องหันมาพึ่งการซื้ออาหารถุงสำเร็จรูปที่มีขายให้เลือกจับจ่ายอย่างมากมาย บางครั้งผู้บริโภครวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่บิณฑบาตทุกเช้าต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค และเพื่อป้องกันการเกิดท้องเสีย และระบบทางเดินอาหารตามมา
ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้า ผู้จำหน่ายอาหารจึงต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการประกอบอาหาร ควรมีการเลือกวัตถุดิบจากตลาดสดที่ได้มาตรฐานที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าสินค้ามีความสด สะอาด และปราศจากสารเคมี หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือซ้อผักหมักดองที่มีสารฟอกขาวต่างๆ เพราะหากกินเข้าไปจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย อาหารสด ดิบ ที่นำมาปรุงประกอบอาหารจึงต้องผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้อง คือ ต้องผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนการประกอบอาหาร และควรล้างมือทุกครั้งก่อนการประกอบอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการเตรียมอาหารเพื่อการปรุงประกอบอาหารผู้ขายจะต้องใช้ความระมัดระวังพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารถุงที่ซื้อแล้วนำกลับไปกินเวลาอื่น อาจทำให้เชื้อโรคในอาหารมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ที่สำคัญห้ามใส่สารกันบูด เพื่อชะลอการเน่าเสียของอาหาร และอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วควรมีการปกปิดอาหารด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ภาวะที่มีฝาปิดมิดชิด เพราะจากการสำรวจอาหารถุงที่จำหน่ายในตลาดเมื่อปี 2550 พบว่า มีความไม่สะอาดพบการปนเปื้อนกลุ่มโคลิฟอร์มถึงร้อยละ 57.14
ด้วยเหตุดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อ และพระภิกษุสงฆ์ที่บิณฑบาตได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะเลือกซื้ออาหารถุงเพื่อกินหรือตักบาตรจึงควรสังเกตอย่างรอบคอบตั้งแต่สีสัน กลิ่น รส ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีสีคล้ำหรือกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาหารถุงที่จำหน่ายต้อบรรจุในถุงที่ทำมาเพื่อการใส่อาหารร้อนโดยเฉพาะและควรอุ่นให้ร้อนก่อนกิน
“ทั้งนี้ จากข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์ พบว่า เมื่อปี 2548 มีพระภิกษุสงฆ์เข้ารับบริการจำนวน 15,567 รูป ในจำนวนนี้ร้อยละ 22.5 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 15 ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มโรคนี้ มีสาเหตุจากปัญหาโภชนาการเกิน อันจะนำไปสู่ภาวะอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการที่มีไขมันในช่องท้องมากเกินไป เป็นผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคเบาหวาน”
“ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างสุขภาพดีให้เกิดขึ้นแก่พระภิกษุสงฆ์กรมอนามัยจึงสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใจบุญทั้งหลายได้ร่วมกันตักบาตรแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วยเมนูชูสุขภาพ ซึ่งการผสานองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารหลัก 5 หมู่ โภชนบัญญัติ 9 ข้อ และธงโภชนาการ รวมเข้าด้วยกัน อันจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชน รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์บริโภคอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังทางโภชนาการที่สำคัญตามมา”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับอาหารเมนูชูสุขภาพนั้น ควรมีการปรุงอาหารอย่างน้อย 4 หมู่ มีปริมาณไขมันไม่เกินร้อยละ 30 และปรุงด้วยอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน อีกทั้งรสต้องไม่หวานและเค็มจัด กล่าวคือ ต้องมีผัก ไม่มันจัด เค็มจัด และหวานจัด เน้นการปรุงโดยการต้ม ปิ้ง นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือทำเป็นแกงที่ไม่ใส่กะทิ และถ้าต้องปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิ ก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิ อย่างพอควร
ที่สำคัญ ต้องปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา เต้าหู้หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน อาทิ ลาบปลา แกงส้ม แกงเลียง เป็นต้น ซึ่งหากประชาชนผู้ใจบุญทุกคนคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการอาหารที่พระภิกษุสงฆ์จะได้รับแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ทุกครอบครัวให้หันมาบริโภคอาหารตามเมนูชูสุขภาพที่ให้พลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดีต่อไป