xs
xsm
sm
md
lg

สร้างสำนึกรักษ์ธรรมชาติ ด้วยเรื่องราวผ่าน “เลนส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเสือดาว รางวัลพระราชทานฯ ผลงานของกิตติญาณ
“เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้ นอกจากรอยเท้า และจะไม่เอาอะไรไป นอกจากความทรงจำ” ประโยคนี้เปรียบได้กับคติประจำใจที่ผู้รักษ์ธรรมชาติทั้งหลายยึดถือปฏิบัติ และนั่นทำให้การถ่ายภาพเป็นวิธีการบันทึกความทรงจำที่ดีที่สุดทางหนึ่ง เสียงกดชัตเตอร์ในแต่ละที่...ในแต่ละผืนป่า ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายในการถ่ายทอดความรู้สึก และความงดงามของผืนป่าก็เป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้หลงใหลสะพายกล้องคู่ใจเข้ามาขลุกอยู่กับป่าได้เป็นวันๆ เพียงเพื่อได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก

ขณะเดียวกัน การภาพถ่ายก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสกับธรรมชาติได้ดีที่สุดด้วย

** ภาพสะท้อนเรื่องราว ปลุกจิตสำนึก
ภาพถ่ายสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างไรนั้น สุรเดช วงศ์สินหลั่ง บรรณาธิการนิตยสารแนวธรรมชาติอย่าง Exposure นักเขียนหนังสือด้านการถ่ายภาพ ผู้ซึ่งหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของผืนป่า และรักการถ่ายภาพธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งภาพที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติยังไม่เป็นที่เผยแพร่มากนัก ทำให้คนห่างกับธรรมชาติไปมาก ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าป่า สัตว์ป่าถูกทำลาย และสูญหายไปมากแค่ไหน เกิดอะไรขึ้นกับธรรมชาติบ้าง แต่เมื่อมีการเผยแพร่ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้ผู้คนได้รับรู้เรื่องราวมากขึ้น
 
กล่าวคือ ภาพจะสะท้อนความคิดทั้งจากด้านบวกและด้านลบที่ช่างภาพต้องการสื่อ ภาพด้านลบ เช่น ภาพป่าเขาที่โดนทำลาย การตัดไม้ ภาพการลักลอบล่าสัตว์ ส่วนภาพด้านบวก เช่น ภาพกวางยืนเล็มหญ้าอยู่ท่ามกลางป่าที่เขียวขจี หรือภาพกลุ่มช้างโขลงใหญ่ ตรงนี้เองจะมีส่วนช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ทางอ้อม ผู้ที่ได้ดูภาพจะรู้สึกได้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถอยู่ได้หากมีป่า สร้างความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติ
 
“อย่างเช่นหากเรามีความรู้เรื่องช้าง คือช้างต้องการพื้นที่หากิน หากไม่มีป่าพื้นที่หากินของช้างก็ต้องหมดไป แล้วถ้าถามว่าช้างไปเกี่ยวอะไรกับการอนุรักษ์ เพราะช้างนั้นเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเมื่อช้างกินอะไรเข้าไป ก็จะไปถ่ายมูลยังอีกที่หนึ่ง สามารถสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น นี่เพียงแค่สัตว์ชนิดเดียว ดังนั้นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าจึงมีความสำคัญทั้งหมด ตั้งแต่เชื้อรา มอส ไรเคน ไปถึงสัตว์ใหญ่ หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหายไปมันจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย สิ่งเหล่านี้หากไปนั่งอธิบายให้คนฟังก็อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก หากมีภาพออกมาก็จะง่ายขึ้น บางคนเห็นภาพๆ เดียวก็เกิดความประทับใจโดยไม่มีเหตุผล”

สุรเดชอธิบายต่อว่า หากคุณเห็นภาพสวยๆ ก็ต้องตั้งคำถามในใจก่อนแล้วว่า ภาพนี้ถ่ายมาจากที่ไหน ถ่ายมาอย่างไร แล้วทำอย่างไรถึงจะได้เจอเช่นนี้บ้าง บางคนที่ไม่เคยสนใจมาก่อนหากได้มาเห็นจะมีคำถามตามมามากมาย

อย่างไรก็ตาม การบันทึกความประทับใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ที่ช่วยสร้างการอนุรักษ์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพถ่ายเสมอไป ต้องแล้วแต่ความชอบของบุคคล บางคนถนัดด้านการวาด ก็มานั่งวาดภาพธรรมชาติในป่าเป็นวันๆ บางคนแต่งกลอน ร้อยแก้ว ร้อยกรอง พรรณนาถึงธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนมีการถ่ายทอดความรู้สึกไม่เหมืนกัน แต่มีความสนใจในสิ่งๆ เดียวกัน

** ภาพดีๆ ต้องไม่ย่ำยีธรรมชาติ
ส่วนข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพธรรมชาตินั้น สุรเดช บอกว่า การปฏิบัติตัวในการถ่ายภาพที่ถูกต้องควรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งหากไปถามคนที่ถ่ายภาพธรรมชาติ คลุกคลีกับธรรมชาติอย่างยาวนาน การที่จะตั้งขากล้องลงบนพื้นยังต้องมองว่ารอบข้างนั้นมีสิ่งมีชีวิตทั้งมด แมลง หรือไม่ เพราะขาตั้งกล้องอาจจะไปทับให้ตายได้ แต่ผู้ที่ถ่ายภาพธรรมชาติบางคนเห็นภาพที่ไม่ได้มุมมอง ไม่ได้ดั่งใจก็เลือกที่จะตัดแต่ง ต้นไม้ กิ่งไม้ เพื่อให้ดูดี อยากให้ลองคิดดูว่าหากทุกคนทำเช่นนี้ คงจะไม่เหลืออะไรให้คนด้านหลังถ่าย นักถ่ายมือใหม่ควรตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ และอีกส่วนคือหากจะถ่ายภาพอะไร ควรรู้ถึงสิ่งๆ นั้นอย่างถ่องแท้ เช่น หากจะถ่ายภาพนก เราควรจะรู้ว่านกแต่ละชนิด มีพฤติกรรมอย่างไร มีรูปร่าง ลักษณะ ถิ่นอาศัยอย่างไร การศึกษานี้เองจะทำให้รู้จักธรรมชาติไปในตัว
 
เช่นเดียวกับ กิตติญาณ สัมพันธารักษ์ นักถ่ายภาพธรรมชาติรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่า ให้ความเห็นว่า ภาพเป็นสิ่งที่บอกเรื่องราว เมื่อถ่ายภาพธรรมชาติก็จะบอกเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติให้ผู้คนได้รับรู้ คนที่ดูและเอาไปศึกษาหากเกิดความชอบเขาก็จะรักธรรมชาติ ภาพถ่ายจึงเป็นเหมือนอุบายให้เกิดแรงจูงใจในการเสาะแสวงหาเพื่อให้เข้าถึงกับธรรมชาติการได้อยู่กับธรรมชาติจะทำให้เกิดความสงบ เพราะธรรมชาติไม่เคยมีเวลาที่ตายตัว ไม่เคยหนีหายไปไหน
 
อย่างไรก็ตาม การที่จะมีผู้คนให้ความสำคัญในการถ่ายภาพ หรือการเข้าถึงธรรมชาตินั้นต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มคน หากเทียบกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ภาระที่มีมากมาย ก็คงไม่มีเวลามาคิดถึงเรื่องพวกนี้ หรือกลุ่มคนที่พอจะมีเวลาและเหนื่อยกับการทำงานอยากจะพัก การพักก็มีหลายรูปแบบ ส่วนมากที่เห็นคือวันหยุดก็ไปเที่ยว การเข้ามาศึกษาธรรมชาติเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต
 
“ถามว่าคนเมืองมีมากแค่ไหนในกลุ่มที่จะสนใจธรรมชาติ หากคนที่ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ก็คงไม่ต้องถามว่าเวลาที่จะมาอยู่กับธรรมชาติจะมีหรือไม่ ผู้คนในปัจจุบันจึงควรแบ่งเวลามาซึมซับกับธรรมชาติบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่อ่อนโยน แต่ตราบใดที่ยังมีภาระ ก็คงยากไม่รู้จักกับธรรมชาติอย่างแท้จริง”
กิตติญาณ ให้แง่คิด

** อย่าสิ้นหวัง กับการอนุรักษ์
มาถึงตรงนี้ สุรเดช ได้ให้ภาพเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมักเห็นพ่อแม่พาลูกๆ มากางเต็นท์นอนในป่าเพื่อใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ให้มีสำนึกรักษ์ธรรมชาติ โดยเด็กๆ เหล่านี้อาจจะเริ่มจากการได้มีโอกาสเข้าค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติตามที่ต่างๆ และยิ่งเขาใช้กล้องเป็น มีโอกาสได้ถ่ายภาพธรรมชาติด้วยตัวเองก็จะมีความหวงแหนธรรมชาติไปโดยอัตโนมัติ

“ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน จะให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการรักษาคงไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ 1 คนกับป่าหลายพันไร่คงดูแลไม่ทั่วถึง ทำไมเราถึงไม่ปิดอุทยานแห่งชาติไปเลยหากจะอนุรักษ์ แต่ที่ต้องเปิดก็เพราะอยากให้คนมาสัมผัส มาใกล้ชิดธรรมชาติ จะได้เกิดความรัก หวงแหน เราจึงอย่าไปสิ้นหวังกับการอนุรักษ์ บางคนบอกว่าโลกร้อนแก้ไม่ได้ อยากทำอะไรก็ทำไป คนเราช่วงอายุหนึ่ง 60-70 ปี เราทำอะไรเพื่อตนเองมาทั้งชีวิต ก็ควรสละเวลาส่วนน้อยนิดมาไว้เพื่อธรรมชาติ เพื่อโลกบ้าง เพราะโลกคือทุกสิ่งทุกอย่าง เราจึงต้องดูแลสิ่งรอบๆ ตัวของเราให้ดีที่สุด” สุรเดช สรุปทิ้งท้าย

** สำหรับนักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพ และมือใหม่ที่รักในการถ่ายภาพธรรมชาติ ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ ในหัวข้อ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ ค้ำจุน คลายโลกร้อน” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2551 โดยเปิดรับภาพส่งเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ก.ย.2551 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.truecorp.co.th และ www.dmp.go.th
ภาพจิ้งจอกหยอกกวาง โดยประสิทธิ์ คำอุด
ภาพสอนกิน โดยปรีชา ศิริบูรณกิจ


สุรเดช วงศ์สินหลั่ง
กิตติญาณ สัมพันธารักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น