กทม.ประชุมเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมปี 51 สั่ง ผอ.ทั้ง 50 เขตเปิดสายโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง เร่งแก้ไขจุดอ่อนน้ำท่วมและรายงานกลับใน 1 สัปดาห์ ส่วนผลกระทบจากไซโคลนนาร์กิสกทม.รับแค่ปลายหาง
ที่สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 : นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ประจำปี 2551 โดยมี นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัด กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักการระบายน้ำ (สนน.) สำนักการโยธา (สนย.) ร่วมประชุม ทั้งนี้ ในการประชุมได้รายงานสภาพอากาศและสภาวะฝนในช่วงนี้ พบว่าตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.2551 (121 วัน) ฝนตกรวม 65 วัน ปริมาณฝนตกรวม 338 มม.แบ่งเป็นปริมาณฝนเกิน 60 มม./ชม.จำนวน 10 วัน และปริมาณฝนเกิน 100 มม./ชม.จำนวน 1 วัน คือ วันที่ 30 ม.ค.2551 โดยกองสารสนเทศการระบายน้ำได้ดำเนินการให้ข้อมูล ภาพเรดาร์ตรวจกลุ่มฝนปริมาณฝนในเวลาปัจจุบันทุกเขตรายงานน้ำท่วมอัตโนมัติ 21 แห่ง และสรุปรายงานน้ำท่วมทุก 09.00 น.ทุกวัน ผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือจากสำนักงานเขตในการรายงานน้ำท่วมของเขต ทางวิทยุสื่อสาร ตรวจสอบปัญหาน้ำท่วมที่ประชาชนแจ้งมายังสนน.แล้วรายงานผลทางวิทยุสื่อสาร ส่งรายงานน้ำท่วมตามซอยให้ สนน.ทุก 08.00 น.
ส่วนการการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำประจำปี 2551 ของ สนน.และสำนักงานเขต กำหนดแผนลอกท่อ 3,900 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งภายในเดือน พ.ค.2551 นี้จะเร่งรัดลอกท่อให้เสร็จทั้งหมด ส่วนการเปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลองนั้น ตามแผนจะเปิดทางน้ำไหล 1,102 คลอง ความยาว 1,480,753 เมตร ดำเนินการแล้ว 559 คลอง ความยาว 747,805 เมตร คิดเป็น 51 % และการขุดลอกตามแผน 74 คลอง ความยาว 142,592 เมตร ดำเนินการได้ 21 คลอง ความยาว 57,037 เมตร คิดเป็นผลงาน 40 %
สำหรับการเตรียมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สนน.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้วเสร็จ 100% คือจำนวน 637 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องไฟฟ้า 590 เครื่อง และแบบใช้น้ำมัน 47 เครื่อง ติดตั้งใน 287 จุด สูบน้ำได้ 501.93 ลบ.ม.ต่อวินาที การเตรียมการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์อะไหล่ต่างๆที่ใช้งานสำหรับเครื่องสูบน้ำ เจ้าหน้าที่ ทีมช่าง พร้อมออกบริการและซ่อมบำรุงตามจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำของ สนน.และสำนักงานเขตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ออกบริการ ตรวจสอบ บริการ เครื่องสูบน้ำเพื่อเฝ้าระวัง รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนที่เกิดปัญหารถเสียขณะมีฝนตกน้ำท่วมในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมต่างๆ
ขณะที่การเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำของกองระบบอาคารบังคับน้ำ การบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าประจำกองระบบอาคารบังคับน้ำ โดยมีสถานีสูบน้ำ จำนวน 134 สถานี ฝั่งพระนคร 90 สถานี ฝั่งธนบุรี 44 สถานี มีเครื่องสูบน้ำประจำสถานีรวม 748 เครื่อง กำลังสูบรวมประมาณ 1,466 ลบ.ม./วินาที ความคืบหน้า ในการซ่อมบำรุงมีความพร้อม 96 % บึงรับน้ำ 11 แห่ง (แก้มลิง) มีปริมาตรเก็บกักน้ำสูงสุดประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันได้พร่องน้ำแล้วประมาณ 40-60% การปฏิบัติงานระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ทำการเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำและลดระดับน้ำในคลอง รักษาระดับน้ำในคลองอยู่ที่ประมาณ (-0.90 ถึง -0.50 ม.รทก) กรณีที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตก จะรักษาระดับน้ำที่ (-1.00 ถึง -0.90 ม.รทก.) เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับการรองรับน้ำ
นางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า ปีนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปรกติจากเดิมจะเริ่มเข้าหน้าฝนช่วงกลางเดือนพ.ค.แต่ในปีนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเนื่องจากปรากฎการณ์ลานีญาที่ทำให้ฝนตกในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯในช่วงดังกล่าวโดยคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำฝนต้นฤดูมากกว่า 40% ปริมาณน้ำฝนกลางฤดู 30% และปริมาณน้ำฝนปลายฤดู 25 % จึงทำให้สนน.และสำนักงานเขตต้องปรับแผนป้องกันน้ำท่วมให้เร็วขึ้นทำให้การขุดลอกท่อระบายน้ำที่แผนเดิมจะเสร็จในเดือนก.ค.เปลี่ยนมาให้เสร็จเร็วขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ให้สำนักงานเขตนำข้อมูลจุดอ่อนน้ำท่วมจากสนน.ซึ่งปีที่แล้วมีการร้องเรียนเข้ามามากโดยให้ทางเขตสำรวจจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ตามข้อมูลของสนน.ว่าตรงกันหรือไม่ หรือมีการการแก้ไขปัญหาไปแล้วอย่างไรบ้าง จากนั้นให้เสนอรายงานกลับมาใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ตนยังได้กำชับให้ทางเขตควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่ไม่ให้มีเศษวัสดุเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ รวมถึงจะต้องสามารถติดต่อสื่อสารกับผอ.เขตทั้ง 50 เขตได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับข้อมูลพยากรณ์อากาศที่จะทราบล่วงหน้าก่อน 3 ชั่วโมงเพื่อเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยเรื่องพายุไซโคลนนาร์กิส(Nargis)ที่มีศูนย์กลาง อยู่ทางทิศตะวันตกห่างประมาณ 750 กิโลเมตรจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่าคาดว่า จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งของประเทศพม่าประมาณวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ประกอบกับความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุม ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคเหนือ และภาคกลางยังมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 นี้ ส่วนกทม.จะได้รับผลกระทบเฉพาะปลายหางไซโคลนเท่านั้น