"...อยากให้ทุกคนจับมือกันเป็นวงกลม ลองหลับตาและปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ในใจตอนนี้คิดอยู่เพียงอย่างเดียวคือตอนนี้เรากำลังตั้งท้อง ในขณะที่เรายังเป็นนักเรียนอยู่ ให้นึกอยู่เสมอว่าหากเราเป็นผู้ที่ต้องตั้งครรภ์จะรู้สึกเช่นไร สิ่งที่กังวลภายในใจ ตลอดถึงสิ่งต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามา เราจะรับมือกับมันอย่างไร...”
นี่คือ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่ ทาง มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง พยายามสื่อถึงเยาวชนให้เกิดความรู้สึกต่อสถานการณ์การท้องไม่พร้อม จากโครงการ ค่ายเยาวชนนักกิจกรรมเอดส์และเพศศึกษา โดยการสนับสนุนจากองค์การแพธ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนต้านเอดส์และเพศศึกษา เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้และร่วมกันหาทางออก หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเมื่อจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
** ‘ทำแท้ง’ ทางออกที่สังคมขีดเส้น
จากปัญหาการท้องไม่พร้อม หรือการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นนั้น น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ อธิบายถึงปัญหาสำคัญนี้ว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยจุดจบของเรื่องส่วนใหญ่จะลงเอยด้วยการ ‘ทำแท้ง’ เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่สังคมไทยบีบบังคับให้ผู้หญิงที่ตั้งท้องอย่างไม่พึงประสงค์ต้องเลือกที่จะปฏิบัติ ซึ่งจะทำอย่างไร ทำด้วยวิธีไหนก็สุดแล้วแต่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าสังคมไม่มีความยุติธรรมเนื่องจากชอบผลักให้เด็กเดินไปในวิถีทางที่ถูกกำหนด ปล่อยให้มีการทำแท้งอย่างอิสระ ปล่อยให้เยาวชนที่เกิดปัญหาอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยปฏิเสธจะให้การช่วยเหลือใดๆ
“การทำแท้งอยู่คู่กับสังคมทุกยุค ทุกสมัย เราฝันถึงสังคมที่ไม่มีการทำแท้ง แต่ในความเป็นจริงจะหาสังคมเช่นนั้นได้หรือไม่ เด็กหลายคนพูดตรงกันว่า ในโรงเรียนหากพบเด็กที่ท้อง โทษคือไล่ออกสถานเดียว เพราะไม่ต้องการให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่ในเรื่องนี้กลับมีหลายประเทศริเริ่มโครงการเพื่อเด็กที่ตั้งท้องด้วยความไม่พร้อม เขาก็ให้เรียนหนังสือได้ โดยการเตรียมทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ครูอาจารย์ คนในชุมชน ให้รองรับผู้ที่มีปัญหา และสิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราการท้องของเด็กกลับลดลง เพราะเด็กจะเข้าใจว่าการตั้งท้องมีความลำบาก ทำให้ชีวิตในวัยรุ่นต้องขาดหายไปเมื่อต้องตั้งท้อง เด็กกลับระมัดระวังตัวเองมากขึ้น นี่เป็นผลลัพธ์ทางอ้อมที่ได้มา แต่ในไทยเท่าที่เคยได้ยินคือการนำเด็กที่ท้องระหว่างเรียนมาอยู่รวมกัน โดยไม่มีการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับพวกเขา”
** ‘ท้องไม่พร้อม’ ปัญหาที่ผู้ใหญ่ต้องทบทวน
ณัฐยาอธิบายต่อว่า ความจริงแล้วสรีระของผู้หญิงเมื่อเริ่มโตเป็นสาว เริ่มมีประจำเดือนนั่นแปลว่าพร้อมที่จะท้องได้ และการที่เด็กต้องอยู่ภายในโรงเรียน เพื่อศึกษาเล่าเรียนก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปลอดภัยในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นมีโอกาสตลอดเวลา ผู้ใหญ่ต้องตัดสินใจให้ดีสำหรับคนๆ หนึ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพ ซึ่งหากมองว่าการเรียนสำคัญ นั่นหมายถึงเด็กที่ตั้งท้องก็สามารถศึกษาเล่าเรียนได้ แต่การปฏิเสธที่จะให้เด็กท้องเข้าเรียน แปลว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการเรียนคือการรักษาหน้าตาของโรงเรียนมากกว่า
ขณะที่ในส่วนครอบครัว ผู้ปกครองเองก็มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมากับตัวเด็กแตกต่างกันด้วย อย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นคือ เด็กสาวคนหนึ่งตั้งท้องระหว่างเรียน ตัวเขาเองคิดที่จะทำแท้ง แต่ทางครอบครัวของทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะให้แต่งงานกัน ในมุมกลับกันเพื่อนบ้านก็มีปัญหาแบบเดียวกันแต่พ่อแม่เลือกที่จะพาลูกไปทำแท้งในสถานพยาบาลที่ปลอดภัย และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปเด็กสาวทั้ง 2 ได้เจอกัน ทางฝ่ายที่โดนจับแต่งงานรู้สึกได้ว่า “หากไม่โดนบังคับให้ต้องแต่งงาน ตอนนี้ชีวิตคงไปได้ไกลกว่านี้” ซึ่งในรายที่เลือกไปทำแท้งกลับมีชีวิตที่เริ่มต้นใหม่ มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเช่นนั้นหากมองว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป ฆ่ายุงกับฆ่าวัวก็เป็นบาปเท่ากัน ดังนั้นมีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาหลายทางซึ่งแล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละครอบครัวว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกอย่างไร
“สิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่คือบทบาทของผู้ใหญ่ในสังคมโดยเริ่มจากผู้ปกครองที่ต้องมองชีวิตลูกตั้งแต่แรก ตอนเขายังเล็กเราจูงมือลูกข้ามถนน บอกให้มองซ้ายมองขวาก่อนข้าม สอนทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย แต่เราไม่เคยสอนเรื่องเพศที่ปลอดภัยให้เขา นี่คือสิ่งที่ พ่อแม่สามารถสอนด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องหวังให้ลูกได้เรียนรู้จากในโรงเรียน จากระบบการศึกษา พ่อแม่ที่คุยเรื่องเพศกับลูกตั้งแต่เล็กๆ จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูก เพราะการเกิดปัญหาเรื่องเพศวันหนึ่งต้องเกิดขึ้น ถึงแม้ระวังตัวเพียงใด แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ เช่น โดนทำร้ายร่างกาย ข่มขืน โดนฉุด รุมโทรม ฉะนั้นปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อยู่ที่ว่าเราจะรับมืออย่างไร”
ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ บอกอีกว่า หากเกิดปัญหานี้ขึ้นเด็กส่วนใหญ่จะเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนมากกว่าขอคำปรึกษาจากผู้ปกครอง เมื่อเลือกที่จะขอคำแนะนำจากเพื่อน คนให้คำแนะเองก็ต้องไม่ซ้ำเติม รับฟังความรู้สึกในใจทุกอย่าง ไม่ชี้นำการตัดสินใจ และสังคม ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิด ควรหันหน้ามาคุยกันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับบ้างว่าเด็กแต่ละคนนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่ปล่อยให้สภาพแวดล้อมเป็นเช่นไร เด็กที่ต้องเจริญเติบโตขึ้นมาก็จะเป็นไปตามนั้น เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นสังคมก็จะมองว่าเด็กเหล่านั้นออกนอกลู่นอกทางทั้งหมด
** วอนพ่อแม่เปิดใจ รับฟังปัญหา
ในส่วนของ ‘น้องดิว’ - นริศรา นภสิทธิ์จินดา และ ‘น้องต่าย’ - ยลดา วุฒิรัตขจร ชั้นม.5 จาก ร.ร.สตรีอัปสรสวรรค์ 2 สาวนักกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ในเรื่องของปัญหาการท้องไม่พร้อม สะท้อนภาพอย่างน่าคิดว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นกับสังคมไทยเพิ่มขึ้นเพราะเด็กขาดการป้องกัน และไม่ได้มองถึงผลกระทบในสิ่งที่ทำลงไป สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงน่าจะมาจากจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอ เพราะหากมีจิตใจที่อ่อนแอ ก็จะไม่กล้าปฏิเสธฝ่ายชายที่อยากจะมีเพศสัมพันธ์ด้วย อีกทั้งมีความรู้เรื่องเพศไม่เพียงพอที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้
“การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะความจริงการมีแฟนก็ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด แต่การมีเพศสัมพันธ์คิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา แต่หากควบคุมตัวเองไม่ได้ก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง เพราะผลที่ตามมาจากการกระทำเพียงครั้งเดียวก็นำมาซึ่งปัญหาได้ ทั้งการท้องในวัยเรียน และอัตราความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคเอดส์ เมื่อเราจะทำอะไรก็อยากให้คิดทบทวนให้ดี ให้คิดถึงพ่อแม่ว่ากว่าจะเลี้ยงเรามาจนเติบโต พวกเขาได้คาดหวังกับเราไว้มาก ที่อยากให้เรามีอนาคตที่ดี” น้องดิว ฝากข้อคิด
เช่นกันกับ น้องต่าย ที่บอกว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเพื่อนคือสิ่งที่ผู้ประสบปัญหาจะนึกถึง เพราะเป็นวัยเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่เมื่อพูดเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้รับคำปรึกษาที่ดี นี่จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวขึ้น ความจริงเมื่อลูกประสบกับปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม พ่อแม่คือคนแรกที่คิดถึง แต่ผู้ปกครองมีหลักคิดอยู่อย่างเดียวคือ เป็นเด็กต้องเรียนหนังสือ ห้ามมีแฟน ทำให้หลายคนต้องปิดบังผู้ปกครองเมื่อมีแฟน ต้องโกหก จึงอยากให้ผู้ปกครองเปิดใจให้กว้าง รับรู้ว่าลูกเป็นอย่างไร ยอมรับลูกได้ ให้เปิดอกคุยกันได้
มาถึงตรงนี้ ณัฐยา ได้ฝากทิ้งท้ายว่า เมื่อเด็กที่มีปัญหาแล้วเข้ามาขอคำปรึกษาต้องพยายามปรับสภาพจิตใจ อารมณ์ ให้เขาพูดในสิ่งที่อัดอั้นตันใจให้หมด เมื่อเรียกสติกลับมาได้แล้ว จึงให้เขาพยายามคิดหาทางออกด้วยวิธีของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันคำตอบที่ได้มาเขาก็จะมองเห็นถึงข้อจำกัด จากนั้นจะค่อยๆ ค้นพบคำตอบไปเรื่อยๆ จนเจอหนทางที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด เมื่อถึงตรงนั้นเขาจะได้เป็นผู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่เราเป็นผู้ประคับประคอง ให้คำแนะนำ แต่ไม่ได้ชี้นำให้ปฏิบัติทางใดทางหนึ่ง
“เด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งไม่มีใครช่วยอะไรได้เลย ดังนั้นจึงต้องฉลาด และเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง ฟังเสียงตัวเองให้มากๆ มองเป้าหมายในชีวิตของตัวเองให้ชัดเจน ว่าในอนาคตอยากเห็นชีวิตเป็นอย่างไร ยึดเป้าหมายในชีวิตไว้ เพื่อจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิต” ณัฐยา ทิ้งท้าย