สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอันย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ข้าวของ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารการกินอันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องซื้อหามาบริโภค มีราคาดีดตัวสูงขึ้นจนน่าใจหาย พ่อค้าแม่ขายก็ขายของยาก คนซื้อก็ลำบากเพราะของแพงขึ้น เรียนได้ว่าประชาชนคนธรรมดาเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า บางส่วนเสี้ยวความเดือดร้อน จึงตะโกนผ่านฝากบอกไปยังผู้บริหาร ให้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
-1-
นิตยา ชะวาลา แม่บ้านที่ยึดตลาดบางซื่อและเตาปูนเป็นตลาดประจำ ให้ข้อมูลว่าราคาข้าวของที่แพงขึ้นส่งผลกระทบไปทุกส่วน ขนาดที่ว่าไข่จากที่เคยเป็นสินค้าราคาถูก ก็ขึ้นมาแพงไม่แพ้สินค้าชนิดอื่นเลยทีเดียว
“ข้าวสุกที่นึ่งสุกแล้วขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว จาก 2 ก้อน 5 บาท เป็น 6 บาท แล้วกับข้าวอย่างอื่นจากที่เคยซื้อไปตุนไว้ก็พยายามไม่ซื้อ ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง แต่ก็พอจะมีไข่นี่แหละที่พอซื้อเก็บไว้ได้ทีละ 20 ฟอง ซื้อคละกันไปฟองเล็กฟองใหญ่ 50 บาทก็กินได้ 7 วัน ซึ่งถ้าเทียบกับหมูแล้วในราคานี้ กินได้ไม่เกิน 2 มื้อ” นิตยา เล่าให้ฟัง
ด้านแม่ค้าอย่างป้าอึ่ง เจ้าของแผงไข่ไก่-ไข่เป็ดในตลาดเตาปูนมากว่า 10 ปี ที่เคยขายไข่จาก 3 ฟอง 5 บาท จนวันนี้ไข่ไก่เกรดเอเหยียบสถิติอยู่ที่ฟองละเกือบ 4 บาท เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาไข่ค่อยๆ กระเถิบตัวขึ้นไปตามสินค้าอื่น และลูกค้าที่เคยซื้อตุนไว้ก็ลดจำนวนลงมาเพื่อที่จะเอาเงินไปซื้ออย่างอื่นเพิ่มเติม
ป้าอึ่ง บอกต่ออีกว่า เมื่อลูกค้าประหยัดมากขึ้น คนขายเองก็ต้องประหยัดตามเช่นกัน เพราะเมื่อต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหมายความว่า ต้องนำกำไรที่เคยได้มาโปะต้นทุนใหม่ ทำให้เงินฉุกเฉินที่จะเก็บได้ก็น้อยลงตามไป
ถัดไปไม่กี่แผงก็เป็นร้านซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “แกงทุกอย่าง 10 บาท” ของลุงจันทรวรรณ สาคร ซึ่งราคานี้ยืนพื้นมาตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่เริ่มเปิดร้านใหม่ๆ และมีครั้งหนึ่งที่คิดติดราคาหน้าร้านเป็น 15 บาท แต่ผลคือลูกค้าทั้งขาจรขาประจำหายไป ทำให้ต้องปลดป้ายลงมา 10 บาทเท่าเดิม
“ตอนนี้ของขึ้นเกือบทุกอย่าง ข้าว ไข่ หมู พ่อค้าแม่ค้าซื้อมาขายไปก็พออยู่ได้ กำไรนิดหน่อย ถือว่าเราขายราคานี้มานาน ขายเอาน้ำใจกันมากกว่า ซึ่งร้านเราถือว่าทำกับข้าวหลายอย่าง ทั้งอาหารอีสาน อาหารภาคกลาง กินได้ทั่วไปวันอาทิตย์ทำมากหน่อย 50 กว่าอย่าง วันธรรมดาคนเดินตลาดไม่เยอะก็ทำประมาณ 20 อย่างก็พอ แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ไข่พะโล้ ต้องทำทุกวัน แต่ก่อนจะเป็นตัวทำกำไร แต่วันนี้ไข่ขึ้นราคากำไรน้อยลง ก็หาแกงที่ต้นทุนไม่สูงเพิ่มเติมเพื่อเฉลี่ยกำไรแทนหมู ไก่”
ส่วนวรนุช มีทรัพย์ แม่ค้าขายส่งนมซึ่งตกอยู่ในฐานะคนซื้อและคนขายในคราวเดียวกัน กล่าวว่า ราคาของกินที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ตัวเธอเองนั้นจากคนที่ต้องทำกับข้าวรับประทานเองก็หันมากินอาหารถุงมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบราคาแล้วจะถูกกว่ากับข้าวทำเอง ด้วยรายได้รับจ้างขับรถของสามีและรายได้จากการขายนมที่ไม่แน่นอนจึงไม่อยากจะเสี่ยงกับสิ่งที่ต้องจ่ายมากเกินจำเป็น
“ทุกวันนี้อยู่กัน 5 คนในบ้านแค่ค่ากินวันหนึ่งก็ 300 บาท ไม่รวมข้าวที่เราหุงกินเอง ช่วงนี้เราอาจจะรับไหวเพราะลูกยังไม่เปิดเรียน แต่หลังจากนี้ภาระคงเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พยายามไม่ซื้ออะไรตุน ซื้อให้น้อยลง และประหยัดให้มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลแค่ไหน” วรนุชแจกแจง
-2-
ทีนี้ลองไปดูตลาดที่ “ทั่นนายกฯสมัคร” ไปเดินซื้อของฉลองรับตำแหน่งตั้งแต่เป็นนายกวันแรกอย่างตลาดเทวราช – ย่านเทเวศร์ ดูบ้าง
ปอเจ็ง เนาวบุตร เจ้าของแผงเส้นก๋วยเตี๋ยว เล่าให้ฟังว่าผลพวงจากข้าวขึ้นราคาทำให้บรรดาเส้นใหญ่ เส้นเล็ก บะหมี่ขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 10 บาท
“เส้นอะไรที่มาจากข้าวจะแพงกว่าที่ทำจากแป้ง เช่น บะหมี่ที่ขึ้นมาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ตอนนี้ก็ขึ้นไม่มากเพราะอยู่ตัวแล้ว ถ้าเทียบกับหมี่เส้นขาวที่ขึ้นตามข้าวไปติดๆ”
สำหรับแม่ค้าที่ขายเส้นมา 10 กว่าปีแล้วการขึ้นราคาสินค้าเป็นเรื่องที่สามารถรับได้ เพราะซื้อมาแพงก็ต้องขายออกไปแพงเช่นกัน ส่วนภาระหนักไม่ได้ตกอยู่ที่ไหนไกล คือ ผู้บริโภครายย่อยโดยเฉพาะคนเดินถนน พนักงานบริษัท หรือลูกจ้างประจำนั่นเอง
“คนที่จะตายคือคนกิน เพราะต่อรองราคาไม่ได้ แม่ค้าพ่อค้าขายอย่างไรก็ต้องซื้อตามนั้น กับข้าวบางอย่างก็ขึ้นราคาแล้วไม่มีลด เช่น ก๋วยเตี๋ยวที่ส่วนใหญ่ขึ้นไปแล้วชามละ 5 บาท คนกินก็ต้องซื้อ ไม่มี” ป้าปอเจ็งให้ความเห็น
จิราวรรณ ยิ่งนิยม เจ้าของร้านขนมจีนในตลาดเทวราช เล่าถึงราคาขนมจีนที่เพิ่มขึ้นเกือบจะเท่าตัวจากกิโลกรัมละ 10-15 บาท วันนี้ราคาอยู่ที่ 25 บาท และคงอีกไม่นานหากราคาข้าวไม่ยอมคงที่ก็คาดว่าจะกระเถิบขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาท
“ตอนที่ข้าวขึ้นราคาก็ค่อยๆ ขึ้นกิโลละบาทมา 4 เที่ยว และล่าสุดขึ้นรวดเดียว 5 บาทก็เลยเป็น 25 บาท แล้วก็แว่วๆ ว่าจะขึ้นอีก 4 บาท แต่ว่ายอดขายก็ปกติเคยขายได้ 100กว่าโลก็ยังได้เหมือนเดิม แต่คนกินก็จะบ่นหน่อยที่เคยซื้อ 3 กิโลก็เหลือ 2 กิโล ที่ไหนก็คงเหมือนกัน กำไรเท่าเดิมแต่ต้นทุนสูงขึ้น แล้วคนซื้อก็ลดจำนวนลง”
-3-
ในส่วนของตลาดโต้รุ่งโชคชัย 4 ย่านลาดพร้าว “พี่หญิง” - ศิริธาทิพย์ นาคเจือทอง อายุ 26 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงโชคชัย 4 ว่า ตอนนี้วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหารเพื่อขายในแต่ละวันขึ้นราคาทุกอย่าง
ที่ขึ้นราคาอย่างน่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นข้าว ผัก กะทิ ที่เพิ่มราคาเป็นเท่าตัวซึ่งแต่เดิมนั้นข้าวหอมมะลิเคยตกอยู่ถังละ 200 กว่าบาท แต่ในช่วงระยะเวลาเพียง 4-5 เดือนนี้ข้าวกลับขึ้นราคาเป็นถังละ 500 บาท อีกทั้งผักก็ขึ้นอย่างน่าใจหายเช่นกัน อย่างพริกที่จากเดิมกิโลกรัม 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละกว่า 50 บาท ในส่วนของเนื้อสัตว์ หมู เนื้อ ไก่ ก็ปรับขึ้นบ้างแต่ก็เป็นปกติพอรับได้ ที่ขึ้นราคาประมาณ 20-30%
“อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตามท้องตลาดให้มีราคากลางเท่ากันทุกที่เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสได้ซื้อของที่มีราคาเท่าเทียมกัน ตอนนี้แต่ละตลาดราคาต่างกันมาก คนที่ลำบากคือผู้ซื้อเองที่ต้องวิ่งหาตลาดที่ถูกที่สุด” พี่หญิง บอก
ด้านพี่สาว อายุ 37 ปี เจ้าของร้านขนมจีนปักษ์ใต้ตลาดโต้รุ่งโชคชัย 4 ที่ขายมากว่า 10 ปี บอกเช่นกันว่า ของขึ้นราคาทุกอย่าง ในช่วงหลังประมาณ 2 เดือน ราคาของจะขึ้นครั้งละ 5-20 บาท ซึ่งขึ้นแล้วก็ไม่มีการลงแต่อย่างใด ทำให้ตอนนี้ต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบแต่ละอย่างจะเพิ่มจากเดิมประมาณ 500 บาท
ในส่วนของผู้บริโภคทั้งขาประจำและขาจรที่แวะเวียนมให้ภาพสถานการณ์ราคาอาหารในตลาดดังกล่าวว่า มากินอาหารที่นี่เป็นประจำเพราะมีอาหารให้เลือกมากมาย ทั้งอาหารสำเร็จรูป ผลไม้ ขนม แต่ตอนนี้เข้าใจว่าราคาข้าวของเพิ่มราคาอย่างมาก และเห็นได้ชัดว่าบางร้านที่ขายอยู่ที่นี่ก็เริ่มขึ้นราคาบ้างแล้ว
-4-
สำหรับตลาดขนาดใหญ่ที่รองรับความต้องการทั้งแบบขายปลีกและขายส่งอย่าง “ตลาดสี่มุมเมือง” ย่านรังสิต ที่มักจะคึกคักพลุกพล่านก็ตอนสองทุ่มล่วงไปแล้ว ที่จะมีพ่อค้าแม่ขายขนข้าวของมาลงแผงและเปิดขาย รอผู้คนที่หลั่งไหลมาซื้อหาจากทุกสารทิศจากทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล
ป้านเรณู สะอาดศรี เจ้าของแผงไข่ไชยรัตน์ฟาร์มที่ยึดพื้นที่ตลาดสี่มุมเมืองขายไข่มากว่า 18 ปีแล้ว ยอมรับว่า ช่วงนี้ราคาไข่พุ่งสูงขึ้นมาก ขนาดไข่ไก่เบอร์ 0 ที่เป็นไข่เบอร์ใหญ่นั้นจากเดิมราคา 3 บาท ขณะนี้ขึ้นมาอยู่ในราคา 3.50 และทำท่าจะขึ้นเป็น 4 บาทแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงมากเอาการอยู่
“เราขึ้นตามราคาที่ส่งเข้ามา ค่าขนส่งแพง น้ำมันขึ้น อาหารไก่แพง ต้นทุนมันแพงทุกอย่าง ลูกค้าคนซื้อบ่นตลอดว่าแพงขึ้นมาก ภาระตกไปอยู่ที่คนซื้อ”
ในส่วนของผักบุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผักประจำบ้านที่หลายบ้านซื้อหากันไปผัดเป็นกับข้าวประจำตอนนี้ก็มีราคาไม่คงที่ พี่สำราญ ศรีลาเลข ยี่ปั๊วผักบุ้ง ระบุว่า สถานการณ์ราคาผักบุ้งไม่คงที่ บางวันก็อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 50-55 บาท แต่ระยะนี้มีอยู่หลายครั้งที่ราคาผักบุ้งพุ่งขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 80 บาททำให้มีเสียงบ่นจากแม่ค้าซาปั๊วรวมถึงแม่บ้านสู้ราคาไม่ไหว
ในขณะที่สุกัญญา ดุงสูงเนิน แม่ค้าแผงผักกวางตุ้งและคะน้า กล่าวว่า ราคาผักประเภทกวางตุ้งกลับลงไปเยอะ เหลือแค่กิโลกรับละ 5 บาท ซ้ำยังขายไม่ดี เมื่อก่อนขายได้วันละ 2 ตัน ตอนนี้ขายได้วันละไม่ถึงตัน
“อยากให้รัฐมาดูแลบ้าง ให้ราคาผักมันอยู่ตรงกลาง ให้มันดีขึ้น ให้คนขายอยู่ได้ ให้คนซื้อก็ซื้อได้ ปีนี้ผักบางอย่างแพงมาก กะหล่ำ ผักชี แพงมาก ประชาชนคนซื้อลำบาก ในขณะที่คะน้า กวางตุ้งนี่ราคาลงเท่าตัว คนขายก็ลำบาก คนปลูกก็ลำบาก ปุ๋ยแพง ค่าแรงแพง น้ำมันแพง แต่ขายได้ราคาตกต่ำ อยากให้ผู้บริหารประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความสนใจในความเดือดร้อนของประชาชนตรงนี้ด้วย”
และสำหรับ “ผักกระแส” ที่เป็นข่าวทุกครั้งที่ผักมีการขึ้นราคาหนีไม่พ้น “ผักชี” ที่พี่ต้อ เรืองสุข เจ้าของแผงต้นหอม ผักชี ระบุว่า ผักชีเป็นผักที่ราคาไม่คงที่ บางครั้งราคาตกชนิดคนปลูกร้องไห้ เหลือกิโลกรับละ 5 บาทก็มี แต่ก็เคยราคาพุ่งสูงกิโลกรัมละ 80-100 บาทก็เคยมี ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ผักชีราคาไม่คงที่ อยู่ที่ประมาณ 80-100 บาท ตามแต่ละวัน ทำให้ถึงขนาดบางครั้งลูกค้าขาประจำก็ต้องส่ายหัวใส่เกียร์ถอยหลังออกจากร้านเหมือนกัน เพราะซื้อไม่ไหว
และในส่วนของเนื้อสัตว์อย่าง “ไก่” ที่คนระดับนายกรัฐมนตรีโชว์วิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมกรณีหมูแพงว่าให้กินไก่แทนนั้น ท่าจะไม่ง่ายอย่างที่นายสมัครแนะนำเสียแล้ว
พี่เอกชัย เชียงน้อย เจ้าของแผงไก่จ่าภพ โซน7 ตลาดสี่มุมเมืองกล่าวว่า ขายไก่มาหลายปี ไม่เคยเจอราคาไก่พุ่งสูงปรี๊ดขนาดนี้มาก่อน เป็นการขึ้นราคาที่เรียกได้ว่า เป็นประวัติการณ์แห่งไก่กันเลยทีเดียว
“ผมเคยขายไก่ทั้งตัว 55 บาท ตอนนี้ 64 บาท แล้ว ปีกบนโลละ58 ตอนนี้ขึ้นเป็น 70 บาท น่องเคยขาย 50 ตอนนี้ก็ขึ้นเป็น 60 บาท เนื้อไก่อกเมื่อก่อนกิโลละ 60 ขึ้นทีละ 30 บาท ตอนนี้เนื้อไก่ส่วนอกนี่ 90 บาทแล้วนะครับ”
เจ้าของแผงไก่คาดการณ์ให้ฟังว่าการขึ้นราคาไก่เช่นนี้น่าจะขึ้นตามราคาหมูที่แพงขึ้น ทำให้รายได้จากเดิมวันละ 4,000 ตอนนี้เหลือแค่วันละ 1,000 บาทเศษเท่านั้น
“มันแพงก็อีตอนรัฐบาลนี้แหละครับ อยากให้ช่วยเหลือเรื่องปากท้องก่อน แก้ไขของแพงก่อนแล้วท่านๆ คือไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กินไก่แทนหมูไม่ได้แล้ว ไก่ก็แพง คนจนกินไก่ไม่ได้แล้วครับ เพราะไม่มีกำลังซื้อ” เจ้าของแผงไก่จ่าภพ กล่าว
ส่วนเนื้อสัตว์ที่ขึ้นราคาไปก่อนเพื่อนอย่าง “หมู” เจ๊สายพิณ ชินารมย์ แห่งเขียง “เจ๊สายพิณ” เปิดเผยว่า เดิมจากราคากิโลกรัมละ 90 บาท ขณะนี้ขึ้นเป็น 110 บาท ทำให้ในช่วงแรก ได้รับเสียงบ่นแบบ “ซื้อไปบ่นไป” รวมถึงยอดซื้อยอดขายก็ตกฮวบฮาบลงไปมากในระยะแรก
“คือ แรกๆ ที่ยอดตก ลูกค้าหาย มันขึ้นมาเยอะ ทีเดียว 20 บาท แต่หลังๆ ก็มีกลับมาซื้อ เพราะมันเลี่ยงไม่ได้ เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารที่จำเป็น ลูกค้าก็จำเป็นต้องซื้อ” เจ๊สายพิณสรุปทิ้งท้าย