“ไชยา” แนะใช้ศีล 5 ข่ม “เอดส์” ไม่กินเหล้า มีเซ็กซ์ผิดลูกเมีย รณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย หลังพบแรงงานชายหญิงใช้ชีวิตเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เผยกว่าครึ่งเมินถุงยางขณะมีเซ็กซ์ ขณะที่ติดกามโรค 2 ใน 3 ไม่กล้าไปหาหมอ ห่วงฐานกำลังสร้างเศรษฐกิจไทยทรุด ปลัด สธ.ชี้ทางแก้ให้ดูแลสุขภาพแรงงาน ไม่บังคับตรวจเอดส์ ไม่ไล่ออกหากติดเชื้อ และให้ความรู้ป้องกันตนเอง
วันนี้ (21 เม.ย.)นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าวการรณรงค์ “ครอบครัวไทย แรงงานไทย ห่างไกลเอดส์” ซึ่งจะจัดในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2551 ที่จะถึงนี้ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญได้คาดประมาณผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 ถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว 1,100,000 คน ในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 550,000 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ปี 2551 คาดว่าจะมีประมาณ 13,000 ราย ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากสุด คือ การมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 84 โดยผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 57 อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และวัยแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในโรงงาน กรรมกร ขับรถรับจ้าง เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีการเคลื่อนย้ายบ่อยๆ ทำให้ขาดโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และยังใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ดื่มเหล้า เที่ยวสถานเริงรมย์และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ขณะนี้ทั่วประเทศมีประชาชนอยู่ในวัยแรงงานอายุ 15-49 ปี จำนวน 37 ล้านคน
“อยากให้ประชาชนยึดหลักศีล 5 แค่ไม่ดื่มเหล้า ไม่ผิดลูกผิดเมีย ทำตามหลักพระพุทธศาสนาก็มีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ต้องใช้วิธีการรณรงค์ โดยเฉพาะให้ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งจะเป็นสิ่งดีที่สุด ส่วนคนลูกจ้างในโรงงานที่เป็นแรงงานต่างด้าว บางครั้งก็มีการอาศัยเป็นช่องทางขายตัว จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันและพาไปตรวจสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดโรคได้ ซึ่งจำนวนที่สำรวจในครั้งนี้เป็นแรงงานที่อยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ทราบว่าติดเชื้ออีกจำนวนเท่าไหร่”นายไชยา กล่าว
นายไชยา กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอดส์ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2550 ในกลุ่มพนักงานสถานประกอบกิจการ อายุระหว่าง 15-49 ปี ใน 18 จังหวัด รวม 9,019 คน เป็นชาย 4,287 คน หญิง 4,732 คน พบว่า พนักงานชายมีเพศสัมพันธ์คู่นอนประเภทต่างๆ ได้แก่ หญิงบริการทางเพศ ร้อยละ 18 มีการใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 57 กับหญิงอื่น ร้อยละ 27 ใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 52 และกับผู้ชายด้วยกัน ร้อยละ 5 ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 31 ส่วนพนักงานหญิงมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นร้อยละ 6 และใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 21 เท่านั้น เนื่องจากไว้ใจคู่นอนและไม่คิดว่าจะเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ รวมทั้งผู้หญิงมักไม่กล้าต่อรองทางเพศหรือเรียกร้องเพื่อปกป้องตนเองกับผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อเป็นกามโรคหลังการมีเพศสัมพันธ์ ชายจะไปพบแพทย์เพียงร้อยละ 30 และหญิงร้อยละ 39 เท่านั้น
“ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มวัยแรงงาน ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนัก และแก้ไขทัศนคติในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนฉาบฉวย เพราะวัยแรงงาน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากปล่อยให้มีปัญหาติดเชื้อเอดส์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ครอบครัวขาดรายได้ อาจทำให้ผู้สูงอายุต้องหาเลี้ยงวัยแรงงานแทน” นายไชยากล่าว
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือป้องกันโรคเอดส์ที่ได้ผลดีที่สุดและถูกที่สุด ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพและราคาถูก โดยติดตั้งเครื่องจำหน่ายถุงยางอนามัยแบบหยอดเหรียญในจุดต่างๆ กว่า 8,000 เครื่อง สำหรับกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ได้ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการเรื่องเอดส์ในสถานประกอบการตามมาตรฐาน เอเอสโอ ไทยแลนด์ (ASO Thailand : AIDS Response Standard Organization) ได้แก่ ไม่บังคับให้ผู้สมัครงาน/พนักงานตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอดส์ ไม่เลิกจ้างเพราะติดเชื้อเอดส์และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์แก่พนักงาน ขณะนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานนี้แล้ว 4,113 แห่ง พบว่าได้ผลดีมาก ทั้งคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อสามารถทำงานร่วมกันได้
“สำหรับในการดูแลสุขภาพของคนในโรงงาน ต้องใช้วิธี 2 ไม่ 1 ให้ คือ ไม่บังคับให้มีการตรวจ และไม่เลิกจ้างเมื่อพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ รวมทั้งให้องค์ความรู้ ที่มีประโยชน์ในการดูแลตนเอง ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้แก่ แรงงานทั่วไป แรงงานกลุ่มประมง และแรงงานตามแนวชายแดน ได้สร้างแกนนำแรงงานเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อน ปรับแนวทางการดูแลสุขภาพให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต และประสานความร่วมมือจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย"นพ.ปราชญ์กล่าว
ด้าน นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับภาครัฐ สถานประกอบกิจการ องค์การพัฒนาเอกชนและชุมชน ได้พัฒนารูปแบบเสริมสร้างเครือข่ายสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในระดับจังหวัด โดยมีคณะทำงานในสถานประกอบการและมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ในปี 2550 ดำเนินการได้แล้วใน 26 จังหวัด สำหรับปี 2551 มีแผนดำเนินการเพิ่มอีก 27 จังหวัด
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ “ครอบครัวไทย แรงงานไทย ใส่ใจปัญหาเอดส์” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2551 จะจัดที่บริเวณสวนสาธารณะ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2 ตั้งแต่ 13.00-18.00 น. เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักต่อปัญหาเอดส์และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพี่อให้ประชาชนและกลุ่มแรงงานมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมในการป้องกันโรคเอดส์ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2551 จะมีการแจกสื่อรณรงค์ ในกทม.และปริมณฑล ตามจุดต่างๆ ที่วัยแรงงานเข้าถึงได้สะดวก เช่น ขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง ห้างเซียร์ รังสิต ห้างซีคอน ศรีนครินทร์ ห้างอิมพีเรียล สำโรง เจเจมอลล์ ด่านเก็บเงินทับ