xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คุมเข้มเมนูคนไข้หลังข้าวยากหมากแพง จ่อปรับราคาประมูลกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวรัตน์  ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข
สธ.สั่งคุมเข้มเมนูอาหารผู้ป่วยใน รพ.หลังราคาข้าว น้ำมัน ผัก ผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้น รมช.สาธารณสุข ยืนยันไม่กระทบ กระทรวงหมอยังแบกรับภาระค่าอาหารได้ แต่ในอนาคตอาจต้องปรับราคากลางในการประมูล หลังพบ ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 14% อาหารแห้ง 11% ขณะที่ รพ.บางแห่ง ใช้ข้าวจากโครงการหลวง และปลูกผักปลอดสารพิษใน รพ.เอง


จากสถานการณ์ราคาข้าว และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานราชการหลายแห่งที่ต้องเลี้ยงดูคนเป็นจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ อาทิ ทัณฑสถานต่างๆ ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ บ้านเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา บ้านสงเคราะห์คนเร่ร่อน ของกระทรวงพัฒนาสังคม ล่าสุด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการออกมาตรการคุมเข้มไม่ให้มีการลดคุณภาพของอาหารผู้ป่วยใน รพ.อย่างเด็ดขาด โดยเมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงสร้างราคาข้าว อาหาร และ เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และมีการผันผวนตลอดเวลา ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี รพ.ในสังกัดเกือบ 2 พันแห่งทั่วประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ รพ.ทั่วประเทศ ควบคุมคุณภาพมาตรฐานของอาหารผู้ป่วยใน รพ.อย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างเด็ดขาด

รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า อาหารที่ปรุงให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีความสำคัญมากต่อการหายป่วยไข้ และต้องจัดให้เหมาะสมกับโรค ในส่วนของ รพ.ต่างๆ มีการคำนวณปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ละโรค อยู่แล้ว ปัจจุบันอาหารผู้ป่วยใน รพ.รัฐ หลักๆจะมี 3 มื้อ แต่ละมื้อ จะมีข้าว อาจเป็นข้าวสวย หรือข้าวต้ม พร้อมกับข้าว 3 อย่าง ต้ม แกง และ ผัด พร้อมของหวานหรือผลไม้ 1 อย่าง ทุกมื้อ ใน รพ.ใหญ่ อย่างเช่น รพ.ราชวิถี มีเมนูอาหารให้เลือกทั้งเมนูอาหารไทย และอาหารฝรั่งสำหรับคนไข้ห้องพิเศษด้วย

“อาหารของคนไข้บางโรค จะมีการควบคุมเป็นเมนูเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมอาหารไม่ให้มีรสจัด ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม ผู้ป่วยโรคไต อาหารต้องไม่เค็ม หรือเป็นอาหารเหลว อาหารอ่อน จะมีโภชนากรดูแลอย่างใกล้ชิด” นายชวรัตน์ กล่าวและว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารใน รพ.ของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม เชื่อว่า สธ.ยังสามารถแบกรับภาระในส่วนนี้ได้ และใน รพ.บางแห่งมีการปลูกผักปลอดสารพิษนำมาใช้ปรุงอาหารใน รพ.เอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

นายชวรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากอาหารผู้ป่วยแล้วยังมีนโยบายให้อาหารทุกประเภทที่จำหน่ายในร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ ร้านสหกรณ์ ซูเปอร์มาร์เก็ตภายในโรงพยาบาลจะต้องผ่านเกณฑ์ปลอดภัย 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มอาหารสดจะต้องไม่มีสารพิษหรือเชื้อโรคปนเปื้อน ตามเกณฑ์อาหารปลอดภัย (Food Safety) อาหารแปรรูปผ่านการรับรองคุณภาพจาก อย.และอาหารปรุงสำเร็จผ่านเกณฑ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) โดยให้โรงพยาบาลทำการตลาดกับแหล่งผลิตอาหารที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อส่งจำหน่ายและตรวจรับรองที่โรงพยาบาลโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ด้าน นพ.เรวัต วิศรุตเวช รักษาการอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การปรับตัวของราคาข้าวสาร เนื้อสุกรที่เพิ่มสูงขึ้นเพิ่งจะเริ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จึงยังไม่ส่งผลกระทบเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่สถานพยาบาลได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้รับผิดชอบค่าอาหารเป็นสัญญาราย 6 เดือน ซึ่งดำเนินการทำสัญญาว่าจ้างตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเดือน ต.ค.2550 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมการแพทย์ ซึ่งต้องดูแล รพ.ขนาดใหญ่ หรือ รพ.ตติยภูมิหลายแห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา รพ.นพรัตน์ราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ฯลฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด ลงตรวจสอบคุณภาพของอาหารที่ปรุงในห้องครัวด้วยตนเอง เพื่อให้อาหารที่ปรุงได้คุณภาพมาตรฐานตามสัญญาที่ได้ว่าจ้างไว้ก่อนหน้านี้

“แน่นอนว่า เมื่อข้าวของแพงขึ้น เราต้องรับผิดชอบคนไข้ให้ได้คุณภาพเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้บางส่วนจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างโรงพยาบาลราชวิถีมีการประมูลอาหารครั้งล่าสุดรอบ 6 เดือนไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเนื้อสัตว์บกเพิ่มขึ้น 14% อาหารแห้งเพิ่มขึ้น 11% น้ำ 3% ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับอัตราค่าครองชีพและราคาสินค้าในท้องตลาด ทำให้ยังพอที่จะแบกรับภาระในส่วนนี้ได้”น.พ.เรวัติ กล่าวและว่า ในส่วนของรพ.ใหญ่ในสังกัด เช่น รพ.ราชวิถี ได้มอบนโยบายให้จัดซื้อข้าวจากร้านจิตรลดาในโครงการหลวง ซึ่งราคายังเพิ่มไม่มาก จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะกระทบกับผู้ป่วย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในการว่าจ้างบริษัทครั้งต่อๆ ไป คงจะต้องนำข้อมูลของราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปนำมาพิจารณาราคากลางให้เพิ่มเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาในปีนี้เทียบกับปีหน้าว่าแตกต่างกันเพียงใด ถึงจะเห็นความแตกต่างทั้งนี้เชื่อว่ากรมฯจะสามารถแบกรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ได้ เพราะเรื่องโภชนาการอาหารของคนไข้จำเป็นต่อการหายป่วยของผู้ป่วยในสถานพยาบาล

กำลังโหลดความคิดเห็น